Showing posts with label Thai Version. Show all posts
Showing posts with label Thai Version. Show all posts

Wednesday, May 30, 2018

สรุปผลขายภาพออนไลน์ครบ 8 ปี

ต้นฤดูฝนของเมืองกรุงเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หลังจากลาออกจากงานประจำมาได้ 3-4 เดือน ผมก็ได้เจอหนังสือ "แชะ!!... รวยทะลุเลนส์ ถ่ายภาพขายออนไลน์ ธุรกิจสร้างเงินล้าน"  ของ อ.สุระ นวลประดิษฐ์ ถือว่าเป็นหนังสือเปิดทางให้กับอาชีพใหม่ของผม

Designed by Senivpetro / Freepik
นับจากวันนั้นมาผมก็ทำงานส่งภาพขายมาเรื่อยๆ สลับกับไปทำงานด้านอื่นเพื่อหาเลี้ยงชีพในหลากหลายทาง ตั้งแต่เปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่ตลาดนัดจตุจักร เป็นพนักงานขายอาหารสัตว์อยู่แถวซอยโชคชัย4 ฟรีแลนซ์รับงานออกแบบระบบ กลับบ้านเกิดไปกรีดยางอยู่ใต้ได้พักใหญ่สุดท้ายไม่เวิร์ค (ราคายางตกต่ำ) ก็ขึ้นมาทำอาชีพที่ถนัดที่สุดคือกลับมาเป็นนักวิเคราะห์ระบบอยู่กทม.
Designed by Asierromero / Freepik

บทเรียนการทำงานที่ผ่านมาสรุปได้ว่า ทุกอาชีพ ไม่มีอะไรที่ง่ายเลย ทุกงานต้องอาศัยความชำนาญ อดทน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ การยืนระยะอย่างต่อเนื่อง พัฒนาตัวเองเพื่ออยู่รอดให้ได้ และที่สำคัญ "คนเราล้มได้ และต้องลุกให้เร็ว" ^_^

การขายภาพออนไลน์ก็เช่นกัน ไม่ง่ายเลย 555+ ขนาดผมเองทำมา 8 ปีแล้ว ยังเรียกได้ว่าทำแบบประคับประคอง ไม่ดีมากไม่แย่ลง แต่ก็พอเป็นรายได้เสริมที่ดีครับ ผมถ่ายภาพส่งรูปขายอย่างจริงจังอยู่ 4-5 ปีแรก แล้วก็แผ่วลงเพราะเริ่มทำงานประจำ จากส่งรูปขายวันละเกือบร้อยรูป จนเหลือแค่เดือนละ 10-20 รูปเท่านั้น จนทำให้ยอดขายก็มีร่วงลงบ้าง (บางเว็บก็ยอดหายเกลี้ยง) จนครบรอบ 8 ปีนี้ พอจะเริ่มมีเวลาบ้าง จึงต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์การทำอาชีพเสริมนี้อีกรอบ เบื้องต้นเริ่มจะโฟกัสเว็บที่ขายได้แน่ๆ และเลิกทำเว็บที่ขายไม่ค่อยได้ ผมสรุปยอดขายรวมของทุกเว็บตามตารางด้านล่างครับ

ตารางสรุปยอดรวมการขายภาพ 8 ปี
No. Stock Photos Online
files
Total
earnings
Note
1. Shutterstock 5,460 $26,800
2. Photodune (envato elements) 527* $4,192*เมื่อปีก่อนมีจำนวนรูป 5,000 กว่า แต่การรวมตัวกันของ PhotoDune กับ Envato Elements ทำให้รูปทีมีอยู่แล้วไปขัดกับนโยบายใหม่ จึงถูกลบออกคงเหลือแค่ 500 กว่ารูป
3. iStock by Getty Images 6,166 $3,477
4. Adobe Stock (fotolia) 4,220 $2,627
5. Dreamstime 4,304 $2,469
6. 123rf 5,848 $1,801
7. Depositphotos 6,132 $1,310
8. Bigstockphoto 5,021 $1,300
9. Canstockphoto 5,529 $527
10. Alamy 431 $375
11. Colourbox 6,670 $320
12. Pixtastock 6,540 $217
13. Pond5 5,652 $104
14. Freedigitalphotos 2,036 $1,809ยกเลิก เพราะยอดขายไม่มีเลยใน 2 ปีที่ผ่านมา
15. Glstock 3,846 $152ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
16. Yaymicro 3,554 $36ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
17. Stockfresh 1,504 $4ผมถูกยกเลิก account เพราะยอดขายต่ำเกินไป
18. Crestock 50 $4ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
19. Clashot 120 $3ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
20. Mostphotos 1,090 $3ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
21. Cutcaster 70 $0ยกเลิก เพราะขายได้น้อย
22. Veer 4,119 $261เว็บปิดตัวแล้วไปควบรวมกับเว็บ iStock
23. Pixmac 265 $1ถูกควบรวมเข้ากับเว็บ pond5
24. Photokore 2,151 $9เว็บปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2015
25. Freepik 0 $0ผมยังสอบไม่ผ่าน - -"
     T O T A L $47,800
หมายเหตุ: เว็บไซต์ลำดับที่ 14-24 ผมยกเลิกการขายรูปแล้ว

จากตารางสรุปรายได้รวมทั้งหมดครบทุกเว็บใน 8 ปีที่ผ่าน สามารถสรุปสัดส่วนรายได้ของเว็บไซต์ Microstock photography แต่ละแห่ง (ดังรูปที่ 1) ซึ่งเว็บ Shutterstock ถือว่ายังเป็นเว็บที่สามารถทำรายได้ดี อย่างต่อเนื่องคิดเป็น 56% จากรายได้รวมทั้งหมด ถัดมา Photodune หลังจากรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Envato ก็มียอดขายที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับ iStock และ Fotolia (เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Adobe Stock) ก็มาแรงพอๆกัน ด้วยพลังทางการตลาดของ Getty Images และ Adobe ส่งผลให้ทั้งสองเว็บนี้ ขายดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อนครับ

สำหรับเว็บไซต์ Dreamstime, 123rf, Depositphotos, Bigstockphoto และ Canstockphoto ยอดขายก็มีมาเรื่อยๆ ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไรนัก สำหรับท่านที่ได้ลองส่งรูปขายแล้ว(อาจมีเวลาน้อยเพราะทำงานประจำไปด้วย)หรือท่านที่กำลังจะเริ่มลองส่งรูปขาย ผมแนะนำให้เน้นไปที่ 4 เว็บแรกครับ แบบเน้นๆ ตรงเป้ากันไปเลย 555+

รูปที่ 1 - สรุปสัดส่วนร้อยละของรายได้แต่ละไมโครสต็อกใน 8 ปี
ช่วง 3 ปีหลังมานี้ ผมไม่ค่อยได้ตามข่าววงการไมโครสต๊อกมากซักเท่าไหร่ พอมาเริ่มลองตามข่าวอีกทีก็ช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา วงการไมโครสต๊อกก็มีคลื่นลูกใหม่ที่น่าสนใจคือเว็บ Freepik แบบว่าพอมาเช็คดูข้อมูลแล้วเว็บนี้น่าสนใจมาก แนวโน้มความนิยมกำลังเริ่มจะแซงกลุ่มเว็บไมโครสต็อกชั้นนำอย่าง Shutterstock (Alexa rank: 301) ลองพิจารณาแนวโน้มจากรูปที่ 2

รูปที่ 2 - แนวโน้มความนิยมของเว็บไมโครสต็อกชั้นนำ 5 เว็บ (ข้อมูลจาก Google Trend)
ในช่วงแรกผมเองก็ไม่ค่อยสนใจเว็บ Freepik ซักเท่าไหร่ พี่ที่ทำสต๊อกด้วยกันก็แนะนำมาให้รีบส่งรูปสอบเพราะขายดี ผมก็ลองส่งรูปสอบไปแบบงั้นๆ สรุปคือสอบไม่ผ่าน 555+ ต้องรอเวลาส่งสอบใหม่อีกรอบ

ผมเลยลองมาวิเคราะห์ดููสถิติความนิยมของเว็บ Freedigitalphotos (Alexa rank: 100,272) ซึ่งหลักการคล้ายๆกับเว็บ Freepik (Alexa rank: 318) ก็สู้เว็บ Freepik ไม่ได้เลย พอไปดูสถิติของผมเองที่เคยส่งรูปขายไว้ที่เว็บ Freedigitalphotos กว่า 2 พันรูป มียอดโหลดฟรี(Free downloads) 36,065 ครั้ง มียอดขายได้(Sales) 442 ครั้ง (คิดเป็น 1.2% เทียบกับยอดโหลดฟรี) ประกอบกับในช่วง 2 ปีหลังผมไม่มียอดขายได้เลย จึงตัดสินใจปิดพอร์ทที่เว็บนี้ เพื่อที่ไปเริ่มใหม่กับเว็บ Freepik

รูปที่ 3 - แนวโน้มความนิยมของเว็บ Freepik เปรียบเทียบกับเว็บอื่นๆ (ข้อมูลจาก Google Trend)

ส่งท้ายบล็อกนี้ ผมไปค้นคว้าเพื่อหาแรงบันดาลในให้ตัวเองและเพื่อนๆ ที่กำลังจะเริ่มต้นอาชีพเสริมด้าน Microstock Photography นั้นคือรูปถ่ายของ Jonathan E. Oringer (ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเว็บ Shutterstock) ที่เคยส่งขายออนไลน์ในเว็บไซต์ของเขาเองเมื่อปี 2003 (15ปีก่อน)

ภาพถ่ายธรรมดาๆ (ไม่ถึงกับขั้นเทพ) ก็ส่งขายได้นะครับพี่น้องคร้าบบบ… . . .

Image credit: Jon E Oringer/Shutterstock.com
Image credit: Jon E Oringer/Shutterstock.com
ปล.สามารถติดตามอ่านบล็อกสรุปสถิติรายได้ย้อนหลัง 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี, 5 ปี <--คลิกอ่านได้เลยครับ

Friday, May 15, 2015

สรุปผล 5 ปี กับอาชีพช่างภาพสายสต๊อกโฟโต้

ทำไปทำมาเวลาก็ล่วงเลยมาครบ 5 ปีเต็มซ่ะงั้น 5 ปีของการออกค้นหาตัวเอง ผมได้พบ ได้เห็น ถึงสัจธรรม หลายๆอย่างครับ มีทั้งดีมากสุดแสนประทับใจ มีทั้งดราม่าน้ำตาไหลพราก ชีวิตมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติจริงๆ เอาหล่ะผมเพ้อไปพอประมาณ เข้าสู่ประเด็นของเราดีกว่า 555+

ในทุกปีผมจะมาสรุปความคืบหน้าของการทำธุรกิจขายภาพออนไลน์ ว่ามันดีขึ้นหรือแย่ลงยังไงบ้าง ซึ่งจะ เป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ได้ทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่เราทำๆอยู่นั้นยังพอไปได้มั้ย หรือยังไงดี เปลี่ยนอาชีพดีมั้ยหรือ จะปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับการแข่งขันของตลาดที่ร้อนแรงนี้ยังไง ในสภาวะเศรษฐกิจหดตัวแบบนี้


ภาพรวมในปีที่ 5 ของการขายภาพออนไลน์ของผม มันก็ดีขึ้นนิดหน่อยจากปีที่แล้ว แต่ไม่ถึงกับก้าว กระโดดครับ พอประคับประคองกันไปได้ จากสิ่งที่คาดหวังในช่วงแรก เป้าหมายของผมคือการได้เป็นสต๊อก เงินล้านกับเค้าบ้าง ไอ้เราก็ทำมานานแล้วน่ะ (ตอนนั่งสรุปตัวเลขก็แอบลุ้นน่ะ) แต่ก็ยังไม่ได้แตะเงิน ล้านอย่างที่หวังไว้ เอาเป็นว่าในปีหน้า พี่คงจะได้ฉลองเงินล้านกับเค้าบ้าง 555+

มาดูตารางสรุปรายได้รวมของผมใน 5 ปีที่ผ่านมา จากเว็บไมโครสต๊อก 23 เว็บ โดยมีดาราแสดงนำ พระเอกตลอดกาลของผมคือเว็บ Shutterstock ส่วนรางวัลดาวรุ่งพุ่งแรงก็คือเว็บ iStock ที่ผมเพิ่งสอบผ่านมาได้ 2 ปี แต่ยอดขายมาแรงแซงดารารุ่นพี่อย่าง Fotolia, Dreamstime, 123rf และ Freedigitalphotos

No. Stock Photos Online files Total earnings(Baht)
1. Shutterstock 4,177 434,661
2. Freedigitalphotos 2,036 56,079
3. Fotolia 2,937 48,702
4. 123rf 4,655 37,961
5. Dreamstime 3,168 35,350
6. iStock 4,222 69,168
7. Depositphotos 4,356 16,740
8. Canstockphoto 4,624 10,808
9. Veer 4,119 8,091
10. Photodune 4,5171,066
11. Bigstockphoto 903 8,649
12. Graphicleftovers 3,590 3,937
13. Colourbox 5,414 4,588
14. Alamy 280 10,106
15. Yaymicro 3,554 1,110
16. Pond5 573 694
17. Photokore 2,151 273
18. Crestock 50 124
19. Mostphotos 1,090 80
20. Pixmac 265 31
21. Clashot 120 102
22. Cutcaster 70 0
23. Stockfresh 1,504 119
     T O T A L 758,036
ตารางที่ 1 - Summary of microstock photography earnings (5 years)
หมายเหตุ:
  • Online files คือจำนวนภาพและวิดีโอใน Portfolio ที่ผ่านกันอนุมัติแล้ว
  • Total earnings (Baht) คือยอดรายได้รวม 5 ปี (เรทในการคำนวณอยู่ที่ 31 บาท/เหรียญสหรัฐฯ)

รูปที่ 1 - กราฟแสดงสัดส่วนรายได้รวมจากเว็บเอเจนซี่สต๊อกโฟโต้

รูปที่ 2 - กราฟสรุปยอดรายได้รวมในแต่ละปี

ติดตามอ่านบล็อกสรุปสถิติรายได้ย้อนหลัง 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี (<--คลิกอ่านได้เลยครับ) แล้วในปีหน้า ผมจะกลับมาพร้อมคำว่า ได้มาครบล้านแล้วจร้า 555+

Friday, March 20, 2015

สมัคร Shuttterstock เว็บสต็อกโฟโต้แนวหน้าของโลก (Part 2)


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมกลับมาแล้ว... หลังจากไปซุ่มเตรียมข้อมูลสำหรับแนะนำการสมัครเว็บ Shutterstock อยู่พักใหญ่ ยานแม่ของวงการลำนี้ น่าเข้าไปสัมผัสมากครับ ผมเองได้เคยเขียนแนะนำเว็บ Shutterstock ในตอนแรกไว้เมื่อปลายปี 2013 (ติดตามอ่านตอนแรกได้ที่นี่) วันนี้ผมพร้อมเจาะลึกทุกขั้นตอนการสมัครเว็บ Shutterstock แบบละเอียดเลยครับพี่น้องคร้าบบ... เอาแบบเข้าไปประชิดยานแม่แล้วจะไม่มีหลงแน่นอน

รูปที่ 1 - เว็บ Shutterstock

ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการสมัครเป็นผู้ขายภาพในเว็บ Shutterstock แบบ step-by-step ท่านที่ต้องการสมัครต้องเตรียมสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้พร้อมก่อนครับ จะช่วยให้การสมัครลื่นปรื้ดๆ เลยทีเดียว ^^

  • I am 18 or older — ท่านต้องเป็นคนมีอายุพอสมควรนะครับ ต่ำกว่า 18 ปี ยังสมัครขายรูปไม่ได้ครับ
  • Passport — หนังสือเดินทางให้ถ่ายภาพหรือไม่ก็สแกนหน้าที่มีข้อมูลของเรา (ดูตัวอย่างดังรูปที่ 2) เก็บเป็นไฟล์ JPG (หรือ PDF, TIF ก็ได้) เอาไว้ก่อน ขนาดความละเอียดก็ไม่ต้องใหญ่มาก เอาพอให้เจ้าหน้าที่ของ Shutterstock อ่านรายละเอียดได้พอ (ของผมทำขนาดไป 1500x1000 pixels) แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าท่านยังไม่ได้ทำหนังสือเดินทางก็รีบไปทำเลยครับ จำเป็นมากๆ ดูขั้นตอนการทำ Passport ได้ที่นี่
  • บัญชี PayPal — ก็เปิดบัญชี PayPal ไว้ให้เรียบร้อยนะครับ และยืนยันตัวตนให้พร้อม กำ Email บัญชีของ PayPal ไว้ให้แน่น แล้วพอถึงขั้นตอนให้ใส่ข้อมูล PayPal เราก็พิมพ์ใส่อย่างตั้งใจ (อย่ากรอกผิดนะ เดี๋ยวเงินไม่มา 555) แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้ายังไม่ได้สมัคร PayPal ลองอ่านบล็อกของผมก่อนครับ
  • เตรียม 10 รูปสำหรับส่งสอบ — อย่างที่เคยบอกไปตั้งแต่ตอนแรกว่า เว็บ Shuttersotck นี้ต้องมีการส่งรูปไปสอบ 10 รูป (ต้องสอบผ่าน 7 รูปขึ้นไป) ดังนั้นท่านควรเฟ้นหารูปผลงานที่ดีที่สุด Best and the best ของท่านเองมาให้ได้ 10 รูป ซึ่งเป็นรูปหลากหลายแนวหรือแนวเดียวกันก็ได้ โดยมีขนาดภาพไม่ต่ำกว่า 4 ล้านพิกเซล (2500x1667 pixels) หรือลองอ่านบล็อกการเตรียมตัวสำหรับส่งรูปขายของผมก่อนก็ได้ครับ
  • เตรียมตั้งชื่อรูปและ keywords — พอเลือกรูปได้แล้ว 10 รูป ก็ตั้งชื่อรูปภาษาอังกฤษ (captions) และเตรียม keywords รอไว้เลยครับทั้ง 10 รูป อาจจะไม่ต้องฝังใส่ในไฟล์ภาพก่อนก็ได้ แค่ทำเอาไว้เป็น Notepad ก่อนพอถึงขั้นตอนการให้ใส่ข้อมูลเหล่านี้จะได้ copy & paste ได้อย่างว่องไว หรือถ้าอยากลองทำแบบฝังข้อมูลลงในภาพ ติดตามอ่านบล็อกได้เลยที่นี่
  • ที่อยู่ภาษาอังกฤษ — เพื่อให้ขั้นตอนการสมัครได้อย่างไหลลื่น ควรเตรียมข้อมูลที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ภาษาอังกฤษเอาไว้ให้พร้อมครับ

รูปที่ 2 - ถ่ายรูปหรือสแกนหนังสือเดินทาง

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ตามคำแนะนำด้านบนที่ผ่านมา แสดงว่าท่านพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ยานแม่ของ Shutterstock เอ้า! ลุยกันเลยดีกว่าครับ

ในการสมัครเว็บ Shutterstock จะมีอยู่ 2 ส่วนนะครับ ส่วนแรกคือสมัครเพื่อเป็นลูกค้าซื้อรูปเอาไปใช้งาน และอีกส่วนคือสมัครเพื่อเป็นผู้ขายรูป เพื่อเป็นผู้ขายรูป เข้าตามลิงค์นี้เลยครับ http://submit.shutterstock.com/?ref=591133 จะเข้าสู่หน้า "Shutterstock Contributor" ดังรูปที่ 3 หรือถ้าท่านอยู่ในหน้าแรกของเว็บ Shutterstock ให้เลื่อนลงมาด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ดังรูปที่ 4) จะเจอคำว่า Become a Contributor ก็คลิกลิงค์ก็จะเข้าสู่หน้า Shutterstock Contributor ได้เหมือนกันครับ

รูปที่ 3 - หน้า Shutterstock Contributor

รูปที่ 4 - ลิงค์ Become a Contributor ในหน้าแรก Shutterstock

เมื่อมาถึงหน้า Shutterstock Contributor แล้ว ก็เริ่มการสมัครขายภาพได้ที่ปุ่ม "Sign up now" ก็จะเข้าไปเจอหน้า "Create an Account" ดังรูปที่ 5 ก็ดำเนินการกรอกข้อมูลดังนี้

รูปที่ 5 - หน้า Create an Account

  • Full Name — ชื่อจริงของท่านภาษาอังกฤษ (ไม่ต้องกรอกคำนำหน้าชื่อ)
  • Display Name — ชื่อภาษาอังกฤษที่แสดงผลในเว็บ Shutterstock ที่ลูกค้าจะเห็นและจดจำเรา ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ใช้เหมือนชื่อจริงของท่านก็ได้ แต่ต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น ซึ่งทางเว็บจะเช็คให้แบบอัตโนมัติ ถ้าชื่อซ้ำก็จะแสดงข้อความสีแดง "That display name already exists. Please choose another." หรือจะตั้งชื่อให้สื่อไปกับแนวการถ่ายรูปของท่านก็ได้ ลูกค้าจะได้จำท่านได้ง่าย เช่น ท่านชอบถ่ายภาพนก ก็อาจจะตั้ง Display Name ว่า Birds_Lover (จะมี url เป็น http://www.shutterstock.com/g/birds_lover)
  • Email Address — กรอกอีเมลของท่านเพื่อใช้ติดต่อกับเว็บ Shutterstock ซึ่งเว็บจะส่งข้อมูลต่างๆให้บ่อยมาก ตั้งแต่การเริ่มลงทะเบียนที่กำลังทำอยู่นี้ บอกผลการตรวจรูป บอกสรุปยอดเงินในการโอนให้ท่าน เป็นต้น
  • Password — กรอกรหัสผ่าน ณ จุดๆนี้ ผมเน้นย้ำมาตลอด ตั้งรหัสให้ยากๆ เพราะถ้าท่านตั้งไว้ง่ายไป จะโดนระบบของ Shutterstock เตือนแบบหวังดีว่า "Use at least 8 characters, one uppercase letter, one lowercase letter, and one number in your password." :-)
  • I certify that I am 18 or older — ถ้าท่านอายุเกิน 18 ปี ก็กดเลือกเลยครับ
  • I agree to the Terms of Service. — ถ้าท่านอ่านเงื่อนไขการให้บริการของเว็บ Shutterstock แล้วก็กดยอมรับเลยครับ (สารภาพเลยผมเองก็ไม่ได้อ่าน hahaha)
  • Continue — ตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดแล้วก็จัดไป...

พอกดปุ่ม "Continue" ผ่านไปแล้วก็จะแสดงรูปที่ 6 หน้าแจ้งให้ทราบว่าทางเว็บ Shutterstock ได้ส่งอีเมลหนึ่งฉบับไปให้แล้ว (ถ้าไปเช็คเมลแล้วไม่มี ก็กดปุ่ม "Send E-mail" เพื่อให้ส่งใหม่อีกรอบ)

รูปที่ 6 - หน้า Please verify your e-mail address

รูปที่ 7 - อีเมลแรกจาก Shutterstock รอการ verify your email

เมื่อเช็คอีเมล ท่านจะเจอเมลชื่อ "Verify your email to become a Shutterstock contributor" ดังรูปที่ 7 พออ่านแล้วก็กดที่ลิงค์ "Please click here to verity your email" แล้วจะเด้งเข้าสู้หน้าเว็บใหม่ ดังรูปที่ 8 เพื่อแจ้งให้เราทราบว่าขั้นตอนยืนยันอีเมลสำเร็จแล้ว "Your e-mail was successfully verified." มาถึงหน้านี้สำหรับช่างภาพที่จะส่งขายภาพก็กดที่ปุ่ม "Images" ได้เลยครับ (สำหรับการส่ง Vectors / Illustrations และ Videos ผมขอข้ามไปก่อนนะครับ) ท่านก็จะเข้าสู่หน้าที่ 9 จะบอกรายละเอียดว่ารูปที่ใช้ส่งสอบนั้นควรเป็นอย่างไรบ้าง ง่ายเลยครับ เพราะเราเตรียม 10 รูปไว้พร้อมแล้ว กดปุ่ม "Upload Images" เข้าสู่ด่านถัดไป

รูปที่ 8 - หน้าแจ้งการยืนยันอีเมลสำเร็จแล้ว

รูปที่ 9 - หน้าเตรียมส่งรูปไปสอบ

ก็จะเข้าสู่หน้า "Upload Identification and Images" ดังรูปที่ 10 หน้านี้จะมีให้เราดำเนินการอยู่สองส่วน ในส่วนแรก "Upload Your ID" ให้อัพโหลดรูป Passport โดยกดที่ปุ่ม Browse(1) แล้วเลือกไฟล์ Passport รอสักครู่ก็จะมีข้อความบอกว่า "You have uploaded your ID." เป็นอันในส่วนแรกนี้เสร็จเรียบร้อยครับ

รูปที่ 10 - หน้า Upload Identification and Images

รูปที่ 11 - หน้า Upload Identification and Images ในส่วน Upload 10 Images

ถัดมาก็ไปส่วนที่สอง "Upload 10 Images" จะให้เราอัพโหลดรูปที่ดีที่สุดของท่านจำนวน 10 รูปส่งไปสอบ โดยกดที่ปุ่ม Browse(2) ท่านสามารถเลือกรูปทีเดียว 10 รูปได้เลย จากนั้นก็รอหน่อย รอให้รูปทั้งหมดแสดงในหน้าเว็บให้เรียบร้อย ดังรูปที่ 11

หมายเหตุ: ข้อมูลบางอย่างผมขอเบลอภาพ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของน้องผู้ใจดีท่านหนึ่ง ที่ให้ผมได้ capture ทุกขั้นตอนอย่างละเอียดในระหว่างการสมัครเว็บ Shutterstock หวังว่าผู้อ่านคงไม่รำคาญจนเกินไปนะครับ

รูปที่ 12 - หน้า Upload Identification and Images กรณีบางรูปมีปัญหา

แต่บางกรณี ดังรูปที่ 12 ผมเจอมาคืออัพโหลดไปแล้วบางรูปมีปัญหาและไม่มีปุ่ม Browse(2) ให้เลือกรูป ผมใช้วิธีกดปุ่ม "< Back" กลับไปขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้วค่อยกดปุ่ม "Upload Images" กลับมาหน้านี้ใหม่ ซึ่งระบบจะให้อัพโหลดรูปใหม่อีกครั้ง ส่วน Passport จะไม่กระทบกับ Passport ที่เราได้อัพโหลดขึ้นไปแล้วครับ

เมื่อดำเนินการเสร็จทั้งสองส่วนแล้วก็กดปุ่ม "Continue" ได้เลยครับ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ไปจะหินมากครับ เตรียมรับมือกันไว้ให้ดีนะพี่น้อง 555+

เรามาเริ่มกันต่อเลย ขั้นตอนนี้ "Submit your Content" (รูปที่ 13) คือขั้นตอนการใส่รายละเอียดให้กับรูปทั้ง 10 รูป โดยจะต้องทยอยใส่ทีละรูป (แต่สามารถใส่ข้อมูลทีเดียวได้หลายรูป ผมขอยังไม่กล่าวถึง) หลักใหญ่ใจความแล้วสิ่งที่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลคือ ชื่อภาพ (Description/Title/Caption), คีย์เวิร์ด (Keywords) และ หมวดหมู่ (Category)

รูปที่ 13 - หน้า Submit your Content

  1. Description/Title/Caption — การตั้งชื่อภาพภาษาอังกฤษ ไม่ต้องยาวมาก สั้นๆ ได้ใจความ อย่างรูปแรกที่เบลอไว้เป็นดอกลีลาวดี ก็ตั้งชื่อว่า "Frangipani tropical flowers" เป็นต้น
  2. Keywords — ให้ใส่คำภาษาอังกฤษที่สื่อถึงภาพนั้นๆ อย่างน้อย 7 คำ เพื่อประโยชน์ในการค้นหาของลูกค้า เช่น ถ้าเราใส่คำว่า "flower, pink, frangipani, tropical, garden, nature, closeup, plant" เวลาลูกค้าค้นคำว่า "frangipani flower" ก็จะมาเจอรูปเราด้วย ส่วนจะแสดงผลหน้าไหนก็ขึ้นอยู่กับคะแนนความนิยม
  3. Category — จัดกลุ่มภาพว่าควรอยู่ในหมวดหมู่ใด เลือกอย่างน้อยหนึ่ง category แต่ถ้าระบุได้ทั้งสอง category ได้ก็ยิ่งดีครับ อย่างรูปดอกไม้นี้ก็จัดให้อยู่ในกลุ่ม "Nature" เป็นต้น
รูปที่ 14 - รายการทั้งหมดใน Category

สำหรับท่านใดที่ได้เตรียมข้อมูล Caption และ Keywords เอาไว้แล้วทั้ง 10 ภาพตามที่ผมแนะนำ พอมาถึงขั้นตอนนี้ (รูปที่ 13) ก็จะทำงานง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้เตรียมเอาไว้ ก็ลองตั้งชื่อภาษาอังกฤษง่ายๆให้ได้ก่อน ส่วน Keywords ผมมีแนะนำตัวช่วยในการตั้ง Keywords นั่นคือระบบ "Suggest Keywords" เดี๋ยวจะมากล่าวถึงอีกทีครับ

นอกจาก 3 หัวข้อข้างต้นที่ต้องใส่ข้อมูลให้ครบถ้วนแล้ว ก็ยังมีตัวเลือกเพิ่มอีก 5 ตัวเลือก แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าภาพที่เราส่งสอบเป็นภาพแนวธรรมดาทั่วไปที่ไม่ใช่ภาพโป้ ภาพคน ภาพอาคาร ภาพที่มีโลโก้สินค้า หรือภาพแนวคลิปอาร์ต เราก็ไม่ต้องใส่ข้อมูลในส่วนนี้ก็ได้ครับ แต่ถ้าใครเลี่ยงไม่ได้ก็มีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้ครับ


รูปที่ 15 - ตัวเลือกอื่นๆ

  • Illust./Clip-Art: เลือก Yes ถ้าภาพนั้นมีลักษณะเป็นภาพลายเส้นหรือคลิปอาร์ต หรือเลือก No ถ้าไม่ใช่
  • Watermark: เลือก Center คือให้มีลายน้ำคำว่า Shutterstock อยู่ตรงกลางภาพ
  • Nudity/R-Rated: เลือก Yes ถ้าภาพเป็นแนวนู๊ดหรือภาพโป้ หรือเลือก No ถ้าไม่ใช่
  • Editorial: เลือก Yes ถ้าเป็นภาพข่าว, ภาพมีโลโก้สินค้า, ภาพกิจกรรมประเพณีต่างๆ หรือเลือก No ถ้าไม่ใช่
  • Releases: เป็นส่วนที่ต้องแนบเอกสาร Model release ถ้าในรูปถ่ายมีภาพคน หรือต้องแนบเอกสาร Property release ถ้าในรูปถ่ายมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับ Releases ช่วงแรกของการส่งภาพสอบผมแนะนำให้หลีกเลี่ยงก่อนดีกว่า 555+

เอาหล่ะ กลับมาตรง Keywords กันดีกว่า กรณีที่ท่านนึกไม่ออกว่ารูปของท่านควรจะตั้ง Keywords อะไรบ้าง ทาง Shutterstock เข้าใจถึงปัญหาตรงนี้ครับ เลยจัดระบบแนะนำ Keywords เอาไว้ให้ การใช้งานก็ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป มาลองใช้กันดูนะครับ

เริ่มจากคลิกลิงค์ "Suggest Keywords" อยู่ตรงด้านล่างของช่องกรอก Keywords  (รูปที่ 13) จะแสดงหน้าต่างสีดำและมีช่องค้นหา เราก็กรอกค้นหาชื่อภาพภาษาอังกฤษของรูปนั้นๆ เช่นดอกลีลาวดีภาพแรก "Frangipani tropical flowers" แล้วกดค้นที่ปุ่มสีแดง ดังรูป 16

รูปที่ 16 - ช่องค้นหา Keywords

จะได้ผลการค้นออกมาเป็นดอกลีลาวดีหลายหลายแบบ ให้เราดูว่ารูปไหนคล้ายกับรูปดอกไม้ของเรามากที่สุดก็คลิกบนรูปเลือกได้เลย รูปไหนที่เลือกแล้วจะมีเครื่องหมายติ๊กถูกอยู่บนรูปนั้น ในตัวอย่างรูปที่ 17 ได้เลือกรูปที่คล้ายกัน 3 รูป จากนั้นก็กดที่ปุ่ม "Get Keywords"

รูปที่ 17 - ผลการค้นหาของ "Frangipani tropical flowers"

หลังจากนั้นระบบก็จะประมวลผล Keywords ของรูปทั้ง 3 ที่เราได้เลือกไปออกมาให้ โดยคำที่นิยมใช้กันบ่อยสุดอยู่ด้านบนเป็นส่วนที่เราจะนำเอาไปใช้ ส่วนคำที่ไม่ค่อยนิยมใช้ก็อยู่ด้านล่าง ถ้าเราจะต้องการคำในช่องด้านล่างคำไหนก็กดที่เครื่องหมายบวก(+) หลังคำนั้นๆ ก็จะขึ้นไปแสดงในช่องด้านบน เช่นกันถ้าคำด้านบนที่เราไม่ต้องการก็กดที่เครื่องหมายลบ(-) หลังคำนั้นครับ

กรณีอยากจะเพิ่ม Keywords คำใหม่เข้าไป ก็สามารถพิมพ์เข้าไปตรงๆได้เลยในช่องด้านบนตรงคำว่า "Enter New Keywords" แล้วก็กด Enter ครับ (ดังรูปที่ 18) โดย Keywords ทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 50 คำ เมื่อเราพอใจคำที่ปรับแต่งแล้วก็กดปุ่ม "Add Keywords" ได้เลยครับ

รูปที่ 18 - แสดงผล Keywords แนะนำจากรูปที่เราเลือกไป

ในรูปที่ 19 จะเห็นว่า Keywords ทั้งหมดที่ได้จากระบบแนะนำ Keywords ก็จะถูกนำมาใส่ไว้ในช่อง Keywords ของรูปไม้เรียบร้อยครับ ในช่องนี้เรายังสามารถกรอกคำใหม่เข้าไปได้อีกครับ ก็พิมพ์คำใหม่เข้าไปแล้วกด Enter และถ้าต้องการลบบางคำออกก็กดที่เครื่องหมายกากบาท(x) หลังคำที่ไม่ต้องการได้เลยครับ

รูปที่ 19 - Keywords ทั้งหมดที่ได้จากระบบ Suggest Keywords

ใส่ข้อมูลสำเร็จไปหนึ่งรูปแล้วครับท่านผู้ชม แอบปาดเหงื่อนิดนึง (- -") แล้วไปเข้าห้องน้ำห้องท่าให้เรียบร้อย จากนั้นก็มาลุยใส่ข้อมูลอีก 9 รูปที่เหลือครับ ไม่ยากเกินไปใช่มั้ยครับ

ระบบ Suggest Keywords มันจะช่วยเราได้เยอะ ถ้ารูปไหนที่เรานึกไม่ออกจริงๆว่าจะใช้คำอะไรบ้าง แต่ถ้าท่านใดพอตั้ง Keywords ได้เอง เอาซัก 10-20 คำต่อรูป เอาแบบคำที่ตรงๆ โดนๆ แค่นั้นก็พอแล้วครับ

รูปที่ 20 - การเตรียม Title & Keywords ของรูปที่จะส่งขาย

ผมแนะนำว่าให้ทำไฟล์ Notepad แล้วใส่ข้อมูลของภาพทั้ง Title และ Keywords เอาไว้เลย ทำครั้งเดียวพอมีรูปที่มีลักษณะคล้ายกับรูปที่เตรียมไว้ก็เอามาใช้ได้ทันที อาจปรับแต่งชื่อภาพหรือคำอีกนิดหน่อยก็ใช้ได้เลย พอมาถึงหน้าที่ต้องใส่ข้อมูลภาพก็ copy & paste สะดวกดีครับ หรือ จะฝังข้อมูลเหล่านี้ไว้ในภาพเลยก็จะดีมาก เพราะใส่ข้อมูลในภาพครั้งเดียว เราสามารถส่งภาพไปขายหลายๆเว็บโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาใส่ข้อมูลเหล่านี้ใหม่ทุกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

หลังจากเราใส่ข้อมูลจนครบ 10 ภาพแล้ว ก็ตรวจความถูกต้องให้เรียบร้อยว่ากรอกครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ จากนั้นก็เลื่อนหน้าเว็บขึ้นไปบนสุด ดังรูปที่ 21 ตรงมุมด้านซ้ายมือ "Select: All | None" ให้กดคำว่า "All" เพื่อที่จะเลือกรูปทั้งหมด 10 รูป จากนั้นก็กดปุ่ม "Submit for Review" ได้เลยครับ

รูปที่ 21 - การส่งรูปไปตรวจ

รูปที่ 22 - หน้ายืนยันการส่งรูปไปตรวจ

แล้วจะมีหน้าจออีกหน้า (ดังรูปที่ 22) เป็นหน้ายืนยันการส่งรูปไปตรวจ จะมีให้เลือก "Notes for Reviewer (optional)" ซึ่งเราไม่ต้องเลือกก็ได้ ให้กดปุ่ม "Submit for Review" ได้เลยครับ

รูปที่ 23 - หน้าแจ้งข้อมูลผิดพลาด

อ้าว... ทำไม Errors หว่ะ! 555+ (รูปที่ 23) โอกาสเยอะมากที่จะเจอหน้านี้ นั่นคือเราใส่ข้อมูลภาพไม่ครบ หรือสะกด Keywords ผิด อะไรทำนองนี้ ไม่เป็นไรครับ ก็กดปุ่ม "Continue" เพื่อกลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง

เมื่อกลับมาที่หน้า "Submit your Content" จะมีข้อความสีแดงแจ้งเรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จะแสดงอยู่ใต้ภาพที่มีปัญหา (ดังรูปที่ 24) ตัวอย่างที่ผมเอามาให้ดูจะมีแจ้งว่าทั้งชื่อและ Keywords ของคำว่า "Frangipani" อาจจะสะกดผิด และมีคำอื่นมาแนะนำให้เราเลือกด้วย ถ้าผิดเราก็แก้ไขให้ถูกนะครับ แต่ถ้าคำไหนมันถูกแล้ว แต่ระบบยังมีแจ้งเตือนเราก็ไม่ต้องสนใจ ก็ยืนยันจะใช้คำนี้ เค้าจะให้ผ่านครับ ส่วนใหญ่ข้อผิดพลาดที่ระบบจะเตือนก็เรื่องสะกดคำผิด มีคำซ้ำ และลืมระบุ Category ประมาณนี้ครับ ถ้าท่านแก้ไขทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ติ๊กเลือก All แล้วกดปุ่ม "Submit for Review" อีกรอบ (ดังรูปที่ 21) แล้วจะเจอหน้ายืนยันการส่งรูปไปตรวจ (ดังรูปที่ 22) ให้กดปุ่ม "Submit for Review" ได้เลยครับ

รูปที่ 24 - หน้า Submit your Content เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด

ถ้าผ่านกระบวนการแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดมาได้ คุณได้ผ่านด่านสุดหินมาได้แล้วครับ ทาง Shutterstock จะมีอีเมลมาแสดงความยินดีอีกเมล พร้อมบอกว่าให้รอฟังผลการตรวจประมาณ 5 วันทำการ ลุ้นๆ ^^

รูปที่ 25 - อีเมลแจ้งการส่งรูปเรียบร้อยและให้รอผลการตรวจ

ขั้นตอนที่เหลือหลังจากนี้งานจะง่ายขึ้นแล้วครับ จะเข้าสู่หน้า "Enter your contact information" (รูปที่ 26) เป็นหน้ากรอกที่อยู่และเบอโทรศัพท์ ถ้าท่านได้เคยสมัครขายภาพกับเว็บไมโครสต็อกอื่นๆมาแล้วคงจะคุ้นเคยดี ผมจะขอกล่าวแบบรวบรัดน่ะครับ (ต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น)

รูปที่ 26 - หน้า "Enter your contact information"

  • Address: บ้านเลขที่
  • Address Line 2: ชื่ออาคาร หมู่บ้าน (ถ้ามี)
  • City: อำเภอ
  • Country: ประเทศ
  • State / Province / Region: จังหวัด
  • Zip / Postal Code: รหัสไปรษณีย์ของไทย 5 หลัก
  • Phone Number: เบอร์โทรศัพท์ ต้องมีรหัสประเทศไทย (66) นำหน้าด้วย เช่นเบอร์โทรศัพท์ 081-xxx-xxxx ก็กรอกเป็น (66)81-xxx-xxxx เป็นต้น
  • My residential and mailling addresses are the same: ติ๊กเลือก กรณีที่อยู่ปัจจุบัน (Residential Address) กับที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร (Mailling addresses) เป็นที่เดียวกัน แต่ถ้าคนละที่อยู่ก็ไม่ต้องติ๊กนะครับ แล้วต้องไปกรอกที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารด้วยครับ
ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนแล้วก็กดปุ่ม "Continue" เลยครับพี่น้อง

รูปที่ 27 - หน้า "Your payment options"

จากนั้นก็จะไปหน้า "Your payment options" (รูปที่ 27) เพื่อระบุช่องทางการจ่ายเงินให้ช่างภาพ แน่นอนครับ ผมแนะนำ "Payment Method" เลือกเป็น Paypal และตรง "Payout Email" ก็กรอกอีเมลบัญชี PayPal ของท่านเลยครับ แล้วกด "Continue" ไปกันต่อเลย

รูปที่ 28 - หน้า "Thank you for your submission"

สำเร็จ! (รูปที่ 28) ก้าวเล็กๆของการสมัครสอบเข้าเป็นช่างภาพของยานแม่ Shutterstock ผ่านได้เรียบร้อย และหลังจากนี้ก็รอการตรวจรูปและตรวจหนังสือเดินทางประมาณ 5 วันทำการครับ ลุ้นๆ ^_^

สำหรับหน้าสุดท้ายนี้ท่านจะปิดเว็บบราวเซอร์เลยก็ได้ครับและอีก 3-5 วันค่อยเช็คอีเมลดูว่ามีจดหมายแจ้งผลการตรวจมาหรือเปล่า หรือไม่ก็กดปุ่ม "Log Out" ออกจากระบบไปก่อนก็ได้ครับ

ในระหว่างรอ ผมขอเตรียมการบล็อกภาค3 ของการดำรงชีพและใช้ชีวิตในยานแม่ Shutterstock ที่ใช้คำว่ายานแม่ก็เพราะที่นี่คือแหล่งรายได้หลักๆของเหล่าช่างภาพสต็อคโฟโต้ส่วนใหญ่ รวมทั้งผมด้วย ถ้าขาดยานแม่เมื่อไหร่ ชีวิตผมคงแย่แน่ๆ 555+



Tuesday, February 24, 2015

การสมัคร PayPal เพื่อรับเงินจาก Stock Photo (Part 2)

จากตอนที่แล้วว่าด้วย การเริ่มสมัครเข้าใช้งาน PayPal ผมได้กล่าวถึงการลงทะเบียนเริ่มต้นเข้าใช้งาน PayPal ไปแล้ว ถัดมาในบล็อกตอนนี้ ผมจะอธิบายถึงขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ "การยืนยันตัวตน" ปกติถ้าเรายังไม่ได้ทำขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่ว่านี้ เราก็สามารถใช้งานบัญชี PayPal นี้ได้แล้วน่ะครับ โดยสามารถรับเงินเข้า สามารถโอนเงินออกได้ แต่ทาง PayPal จะจำกัดวงเงินในการทำธุรกรรมครับ


รูปที่ 1 - โลโก้เว็บ PayPal

ก่อนจะไปอธิบายขั้นตอนการยืนยันตัวตน ผมจะมาทดสอบการโอนเงินเข้าบัญชี PayPal ใหม่บัญชีนี้ โดยผมจะโอนเงินจากบัญชี PayPal ของผมอีกบัญชี มาให้บัญชีใหม่ที่ยังไม่ยืนยันตัวตนนี้ ลองโอนเท่าไหร่ดี เอาซักหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯเป็นไง อุ๊ต๊ะ! ลืมไปว่าเงินมีอยู่น้อยนิด งั้นลองโอนซัก $1 USD ละกัน 555+

อ้อ ลืมบอกไปว่าเราสามารถมีบัญชี PayPal ได้มากกว่าหนึ่งบัญชีนะครับ หลายคนก็ใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ผมเองเปิดหลายบัญชีเอาไว้ เพื่อบริหารจัดการเงิน และทดสอบโน่นนี่ไปเรื่อยครับ ^_^

ดังนั้นผมขอนำท่านสลับไป Login เข้าอีกบัญชี PayPal ของผมก่อนน่ะ ซึ่งบัญชีนี้ผมได้ยืนยันตัวตนไปแล้ว และจะโอนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปให้บัญชี PayPal ที่เพิ่งเปิดใหม่ โดยผมเลือกการโอนแบบชำระค่าใช้จ่ายส่วนตัว จะไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ

รูปที่ 2 - หน้าการชำระเงิน

รูปที่ 3 - หน้ายืนยันการชำระเงิน

รูปที่ 4 - หน้าแจ้งการชำระเงินแล้ว

รูปที่ 5 - อีเมลแจ้งการส่งเงินให้คุณ

เมื่อผมโอนเงินให้เสร็จแล้ว ผมขอสลับไปเข้าบัญชี PayPal ที่เพิ่งเปิดใหม่ และเมื่อ Login เข้าไปหน้า "บัญชีของฉัน" (รูปที่ 6) ตรงยอดคงเหลือในบัญชี PayPal ใหม่ยังคงเป็น 0.00 บาท เอ๊ะ! ทำไมเงินยังไม่เข้า เมื่อลองเลื่อนไปดู "กิจกรรมล่าสุดของฉัน" จะเห็นว่ามีรายการเงินที่โอนเข้ามาให้หนึ่งรายการ รอการยืนยันรับเงินอยู่ เราเพียงแค่เลือก "ยอมรับ" (ถ้าเลือกปฏิเสธ ก็คืนเงินกลับ)

รูปที่ 6 - หน้า "บัญชีของฉัน" ของบัญชี PayPal ใหม่ เพื่อยืนยันการรับเงิน

รูปที่ 7 - หน้าให้เลือกการ ยอมรับการชำระเงิน แบบอัตโนมัติ

รูปที่ 8 - หน้าแจ้งการยอมรับชำระเงินเสร็จเรียบร้อย

เมื่อเลือก "ยอมรับ" เงินแล้ว จะเข้าหน้าเพื่อเลือกให้การโอนเงินครั้งต่อไปให้เป็นแบบอัตโนมัติไปเลย โดยเราไม่ต้องมาเลือก "ยอมรับ" เงินกันทุกรายการอีกต่อไป ดังรูปที่ 7 เลือก "ยอมรับการชำระเงิน" ไปโล้ด...

กดลิงค์ "ไปที่ 'บัญชีของฉัน'" (รูปที่ 8) จะกลับไปยังหน้า "บัญชีของฉัน" (รูปที่ 9) ซึ่งจะเห็นว่ามีเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว เป็นเงิน 31.66 บาท ซึ่งถ้าท่านดูยอดเงินสกุลไทยแล้วไม่อินเตอร์ สามารถเปลี่ยนสกุลเงินได้นะครับ ให้กดไปที่ "เครื่องมือแปลงสกุลเงิน"

รูปที่ 9 - หน้า "บัญชีของฉัน" แสดงภาพรวมยอดเงินที่มี

เมื่อเข้ามาหน้าเปลี่ยนสกุลเงิน (รูปที่ 10) จะมีแสดงให้เลือกอยู่ 2 สกุลเงินคือ THB-บาทไทย และ USD-ดอลลาห์สหรัฐฯ โดยมีสกุลบาทไทยเป็นตัวเลือกหลักไว้อยู่ ถ้าอยากเปลี่ยนเป็น USD ก็เลือกแล้วกดปุ่ม "ใช้เป็นสกุลเงินหลัก" แล้วจะแสดงข้อความแจ้งการเปลี่ยนสกุลแล้วดังรูปที่ 11 และกลับหน้าภาพรวมโดยกดที่เมนู "บัญชีของฉัน" ได้เลยครับ แล้วสกุลเงินจะเปลี่ยนไปแล้วดังรูปที่ 12

รูปที่ 10 - หน้าเปลี่ยนสกุลเงิน

รูปที่ 11 - หน้าแจ้งการเปลี่ยนสกุลเงินสำเร็จแล้ว

รูปที่ 12 - เปลี่ยนการแสดงสกุลเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ

เอาหล่ะผมพาออกนอกเรืองไปไกล กลับมาสู่หัวข้อหลักของตอนนี้ดีกว่าครับ นั่นคือ การยืนยันตัวตน, การรับเงินจากเว็บ Stock Photo และการโอนเงินเข้าธนาคารในไทย


การยืนยันตัวตน

อย่างที่ผมได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าการสมัครบัญชี PayPal ถ้าจะให้เสร็จสมบูรณ์จริงๆ เราต้อง "ยืนยันตัวตน" กับทางเว็บ PayPal ด้วย โดยเราสามารถเลือกวิธีการยืนยันตัวตนได้ 2 วิธี คือ ยืนยันผ่านบัญชีธนาคาร หรือ ยืนยันผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ผมได้ทดสอบการยืนยันทั้งสองแบบแล้ว การยืนยันตัวตนผ่านบัญชีธนาคารสะดวกที่สุดครับ ดังนั้นผมขออธิบายเฉพาะในแบบนี้เท่านั้นน่ะครับ

ในหน้าภาพรวม "บัญชีของฉัน" จะมีสถานะแสดงไว้ตลอดว่าเรา "ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน" (รูปที่ 13) ให้เรากดที่ลิงค์ "ยืนยันตัวตน" เลยครับ

รูปที่ 13 - หน้าภาพรวมจะแสดงสถานะ "ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน"

รูปที่ 14 - หน้าเลือกวิธีการยืนยันตัวตน

เมื่อเข้าสู่หน้าเลือกวิธีการยืนยันตัวตน ทางเว็บ PayPal จะอธิบายว่าทำไมต้องทำการยืนยันตัวตน (ลองอ่านดูครับ) และวิธีที่ PayPal แนะนำเลยก็คือ "ยืนยันบัญชีธนาคารของคุณ" อย่ารอช้า กดที่ปุ่ม "เริ่มกันเลย" :)

ขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่านบัญชีธนาคารจะเริ่มจากให้เรากรอกเลขที่บัญชีธนาคารของเรา จากนั้น PayPal จะโอนเงินยอดเล็กๆ (จำนวนเงินไม่ถึงหนึ่งบาท) มาให้เราสองรายการ และให้เรานำตัวเลขของยอดเงินสองรายการดังกล่าวมากรอกยืนยันในเว็บ PayPal ถือเป็นอันเสร็จสิ้นครับ

รูปที่ 15 - หน้าเพิ่มบัญชีธนาคารในประเทศไทย

รูปที่ 16 - หน้ายืนยันข้อมูลบัญชีธนาคาร

หลังจากกด "เริ่มกันเลย" ในหน้าเลือกวิธีการยืนยันแบบใช้บัญชีธนาคาร จะเข้าหน้าให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคารของคุณ (รูปที่ 15) โดยข้อมูลที่ต้องกรอกมีดังนี้
  • ชื่อบัญชี: กรอกชื่อภาษาอังกฤษ โดยแนะนำว่าต้องสะกดให้เหมือนกันระหว่างบัญชี PayPal และบัญชีธนาคาร ซึ่งถ้าไม่ตรงอาจจะมีปัญหาในการถอนเงินและต้องเสียค่าธรรมเนียมครับ
  • ชื่อธนาคาร: เลือกธนาคารในไทย ซึ่งมีให้เลือกกันครบทุกแบงค์เลยครับ
  • เลขที่บัญชี: กรอกเลขบัญชีธนาคาร 10 หลัก
  • ป้อนเลขที่บัญชีอีกครั้ง: ยืนยันเลขบัญชีธนาคาร 10 หลักอีกครั้ง
จากนั้นก็กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" จะเจอหน้าให้ตรวจทานข้อมูลอีกครั้ง (รูปที่ 16) ถ้าข้อมูลถูกต้องแล้วก็กดปุ่ม "บันทึก" จะเข้าสู่หน้าแจ้งว่าการเพิ่มเลขที่บัญชีธนาคารเรียบร้อยร้อยแล้ว (รูปที่ 17) และให้เรารอการโอนเงินจาก PayPal (จำนวนน้อยนิด) เข้าบัญชีของเราภายใน 4-6 วันทำการ และจะมีอีเมลแจ้งยืนยันการเพิ่มบัญชีธนาคารให้ด้วย ดังรูปที่ 18

รูปที่ 17 - หน้าแจ้งการเพิ่มบัญชีธนาคารเสร็จเรียบร้อย

รูปที่ 18 - อีเมลแจ้งยืนยันการเพิ่มบัญชีธนาคารของคุณ

หลังจากรอคอยอยู่เกือบอาทิตย์ เมื่อได้ไปปรับสมุดบัญชีธนาคารก็จะเห็นรายการเงินโอนเข้าสองรายการดังรูปที่ 19 มียอดเงินโอนเข้า"0.18" กับ "0.09" บาท เราก็จะนำยอดดังกล่าวไปกรอกยืนยันในเว็บ PayPal อีกทีครับ

รูปที่ 19 - รายการเงินโอนเข้าบัญชีจาก PayPal

เมื่อ Login เข้าเว็บ PayPal แล้วเข้าหน้า "บัญชีของฉัน" ตรงด้านขวามือของจอภาพจะมีลิงค์ "ยืนยันบัญชีธนาคาร" ให้กดเข้าไปดำเนินการได้เลยครับ

รูปที่ 20 - หน้า "บัญชีของฉัน" มีลิงค์ให้กด "ยืนยันบัญชีธนาคาร"

รูปที่ 21 - หน้ากรอกยืนยันตัวเลขยอดเงิน 2 รายการ

พอเข้ามาหน้า "ยืนยันบัญชีธนาคาร" (รูปที่ 21) ก็จะมีช่องให้กรอกยอดเงินทั้ง 2 ยอดที่เราได้รับมา จากนั้นก็กดปุ่ม "ยืนยัน" ได้เลยครับ แล้วจะแสดงข้อความแถบสีเขียวโดดเด่นว่าท่านได้ยืนยันบัญชีธนาคารสำเร็จแล้ว (รูปที่ 22) พร้อมกันนี้ยังมีอีเมลแจ้งให้เราทราบด้วย ดังรูปที่ 23, 24

รูปที่ 22 - ข้อความแสดงความยินดีการยืนยันบัญชีธนาคาร

รูปที่ 23 - อีเมลแจ้งการยืนยันบัญชีธนาคาร

รูปที่ 24 - อีเมลแจ้งการยืนยันบัญชีธนาคารผ่านเรียบร้อยแล้ว

ทั้งหมดทั้งมวลทุกกระบวนการที่เราผ่านกันมา เมื่อเรา Login เข้าหน้า "บัญชีของฉัน" ครั้งต่อไปเราจะสังเกตเห็นตรงสถานะว่า "ยืนยันตัวตนแล้ว" (รูปที่ 25) Congratulations! ท่านผ่านแล้วครับ ท่านสามารถใช้งานบัญชี PayPal นี้ได้แบบไม่มีข้อจำกัดอีกแล้ว ^^

รูปที่ 25 - หน้า "บัญชีของฉัน" แสดงสถานะ "ยืนยันตัวตนแล้ว"


การรับเงินจากเว็บ Stock Photo

เมื่อเรายืนยันตัวตนในบัญชี PayPal เสร็จแล้ว เราก็สามารถนำบัญชีนี้ไปใช้เพื่อรับเงินจากเว็บขายภาพออนไลน์ Stock Photo โดยเว็บ Stock Photo เกือบทุกเว็บจะให้ระบุว่าช่องทางการรับเงินของช่างภาพ (Contributor) จะเลือกช่องทางใด ซึ่งถ้าเราเลือกรับเงินผ่าน PayPal ก็จะมีช่องให้เรากรอกบัญชี PayPal ซึ่งช่องนั้นเราก็นำ Email ของบัญชี PayPal ที่เราสมัครไว้แล้ว กรอกใส่ได้เลยครับผม หลังจากนั้นก็รอยอดขายภาพให้ถึงยอดขั้นต่ำของแต่ละเว็บที่จะโอนเงินให้ท่าน (บางเว็บ 50$ บางเว็บ 100$) เมื่อยอดครบ บางเว็บจะโอนเงินให้อัตโนมัติเข้าบัญชี PayPal เลยครับ บางเว็บก็จะให้เราร้องขอเบิกเงินด้วยตัวเอง (Request Payment)

รูปที่ 26 - ตัวอย่างการใส่ข้อมูลบัญชี PayPal ในเว็บ 123RF

เมื่อทางเว็บ Stock Photo โอนเงินให้เราแล้ว เราจะเห็นรายการเงินโอนเข้าในบัญชี PayPal ดังรูปที่ 27

รูปที่ 27 - ตัวอย่างเงินโอนเข้าบัญชี PayPal


การโอนเงินเข้าธนาคารในไทย

กว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้ หลายๆท่านอาจจะปาดเหงื่อกันหลายรอบ ตั้งแต่รอลุ้นยอดขายดาวน์โหลดแรก จนมียอดรายได้ที่สามารถถอนออกมาจากเว็บสต๊อกโฟโต้แล้วโอนมาใส่ไว้ในบัญชี PayPal เรียบร้อย จากนี้ไปก็เป็นการถอนเงินออกจาก PayPal เข้าบัญชีธนาคารในไทยครับ

สำหรับท่านที่ได้ทำการยืนยันตัวตนผ่านทางบัญชีธนาคารแล้วนั้น ท่านไม่ต้องไปใส่บัญชีธนาคารอะไรอีกแล้ว เราสามารถโอนเงินออกมาที่บัญชีที่เราเคยกรอกข้อมูลไปแล้วนั้นได้เลยครับ แต่สำหรับท่านไหนใช้วิธียืนยันตัวตนผ่านบัตรเครดิต ท่านจะต้องเข้าไปที่เมนู "ข้อมูลบัญชี" -> "เพิ่มหรือแก้ไขบัญชีธนาคาร" เพื่อเข้าไปเพิ่มบัญชีธนาคารในไทยอีกที สำหรับท่านที่ต้องการมีบัญชีรับเงินในไทยมากกว่าหนึ่งบัญชี ก็สามารถเข้าไปเพิ่มในหัวข้อนี้ได้เช่นกัน

เอาหละ มาถอนเงินออกกันดีกว่าเนอะ :) ให้ไปเข้าไปที่เมนู "ถอนเงินจาก PayPal" จะเข้าไปเจอหน้าที่ทำร้ายจิตใจคนรายได้น้อยนิดนึงนะครับ (รูปที่ 28) คือ PayPal ก็จะแจ้งเพื่อทราบว่า ถ้ายอดเงินที่จะถอนออกมากกว่า 5,000 บาท ก็ไม่ต้องโดนหักเงินอะไรเลย แต่... ถ้าไม่ถึงก็จะโดนหักไป 50 บาท เห็นๆ นี่แหละรายได้ส่วนนึงของเว็บ PayPal ที่ทำให้เค้าอยู่ได้ 555+ ก็ไม่แปลกหรอกครับ ในไทย แค่โอนเงินข้ามธนาคาร ข้ามจังหวัดเราก็โดนหักค่าธรรมเนียมเหมือนกัน... อย่าคิดมาก กัดฟันกดที่ลิงค์ "ถอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของคุณ" ณ บัดนาว

รูป 28 - หน้าแจ้งการหักค่าธรรมเนียมของ PayPal

เข้าสู่หน้าระบุจำนวนเงินที่จะถอนออกและระบุบัญชีธนาคารในไทยที่จะโอนเงินไป (รูปที่ 29) เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยก็กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ"

รูปที่ 29 - หน้าถอนเงินโดยการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

รูปที่ 30 - หน้าตรวจสอบเงินที่จะถอนออก

จะมาแสดงหน้าตรวจสอบเงินที่จะถอนออก หน้านี้จะสรุปข้อมูลหลายอย่าง ตั้งแต่ยอดเงินที่เราจะถอนออก $55 USD, อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ=31.6698 บาทไทย, ยอดเงินรวม 1,741.84 บาท, ค่าธรรมเนียมการถอนเงิน -50 บาท (T_T), สรุปเงินที่จะถอนออกจริงๆ คงเหลือ 1,691.84 บาท เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยก็กดปุ่ม "ส่ง" ได้เลยครับ

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการขอถอนเงิน ทาง PayPal จะใช้เวลาดำเนินการโอนเงินเข้าไทยประมาณ 5-7 วันทำการครับ

รูปที่ 31 - หน้าแจ้งคำขอถอนเงินอยู่ระหว่างดำเนินการ

รูปที่ 32 - อีเมลแจ้งกำลังโอนเงินจาก PayPal ไปยังธนาคารของคุณ

เมื่อรออยู่หนึ่งอาทิตย์ เงินก็มาถึงไทย และแล้วภาระกิจนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไทยของเราก็เสร็จสิ้นครับผม หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์กับนักล่าฝันทุกท่านที่อยากมีรายได้เสริมจากกล้องถ่ายรูปของตัวเองนะครับ ^^

หมายเหตุ: ภาพประกอบบล็อก ผมมีตัดทอนลงบางส่วนเพื่อความกระชับในการนำเสนอบนเว็บไซต์ จึงขออภัยที่บางภาพอาจจะไม่คมชัดหรือเหมือนหน้าเว็บของจริงครับ