Thursday, December 18, 2014

การทำหนังสือเดินทางเพื่อใช้ในการสมัครเว็บสต๊อกโฟโต้

สวัสดีครับ ท่านผู้ติดตามอ่านบล็อกของผมทุกท่าน ผมเว้นว่างจากการอัพเดทบล็อกไปพักใหญ่ ด้วยว่ากำลังออกไปค้นหาตัวเองอีกรอบ คราวนี้ผมไปตะลุยทำไร่ทำสวนมาครับ ความอยากส่วนตัวครั้งนี้ ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก และได้ค้นพบสัจธรรม ผลการไปลองใช้ชีวิตพอเพียงครั้งนี้ทำให้พบว่า การเป็นเกษตรกรนั้นมันยากยิ่งนัก ไม่ง่ายเลยจริงๆ 555+


ผมใช้ชีวิตแบบบ้านๆ อยู่ต่างจังหวัด อยู่กับลมกับฟ้ากับป่า มี Passive Income ก้อนเล็กๆจากการขายภาพถ่าย น่าจะพอแล้วชีวิตนี้ กลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนเกษียณคนหนึ่ง ก็คงสุขเนาะ แต่ก็สุขได้ระยะหนึ่งครับ ด้วยว่าเราคิดแผนการเกษียณตัวเองเร็วเกินไป ในวัยที่เรายังมีกำลังทำโน่นนี่ได้อีกมาก และต้องขอบคุณราคายางพาราที่ตกต่ำ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดกลับมาเข้าสู่สนามแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง :)

เพ้อมาพอสมควร เข้าเรื่องเลยดีกว่า... ระหว่างออกไปค้นหาตัวเองในป่า ก็มีหลายท่านสอบถามปัญหาในวงการสต็อกโฟโต้กันเข้ามาพอสมควร จึงทำให้เกิดบล็อกนี้ขึ้น ปัญหาแรกๆที่พบคือ การทำหนังสือเดินทาง (Passport) นี่เอง ดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลายท่านไม่อยากทำ เพราะคิดว่าคงส่งบัตรประชาชนของไทยไปแทนได้ มันง่ายและสะดวกดี แต่นั่นแหละ มันจำเป็นต้องทำครับ เสียเวลา เสียเงินค่าทำหนังสือเดินทางเพียงครั้งเดียว รับรองว่าท่านจะโล้ดแล่นในวงการสต๊อกโฟโต้ได้อย่างไหลลื่นเลยที่เดียว อันนี้ไม่ได้โม้.... น่ะครับพี่น้อง 555+


- ผม/ดิฉัน ไม่ได้ต้องการไปต่างประเทศ แล้วจะทำหนังสือเดินทางทำไม?
- ผม/ดิฉัน ใช้บัตรประชาชนสมัครเว็บสต๊อกโฟโต้ได้ไหม?
- มีเว็บขายรูปที่ไหนบ้าง ที่ไม่ต้องแนบหนังสือเดินทาง?
- ทำหนังสือเดินทางที่ไหน? ทำอย่างไร? ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

การทำหนังสือเดินทาง ก็ทำเพื่อเผื่อจะเดินทางไปต่างประเทศไง อันนั้นก็จริง เพราะหนังสือเดินทางที่รัฐบาลแต่ละประเทศออกให้กับพลเมืองของตัวเองนั้น เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงในระดับสากลว่า คุณเป็นใคร เป็นคนประเทศไหน ทุกประเทศเข้าใจ เมื่อได้ดูข้อมูลในหนังสือเดินทางของคุณครับ

สำหรับธุรกิจการส่งภาพถ่ายหรือไฟล์เวกเตอร์หรือคลิปวิดิโอ ไปขายในเว็บต่างประเทศนั้น บริษัทในประเทศนั้นๆเขาต้องการทราบว่าคนที่จะทำธุรกิจร่วมกับเขาเป็นใคร มาจากไหน จึงต้องการเอกสารยืนยันที่เป็นสากล ดังนั้น Passport จึงเป็นคำตอบสุดท้ายครับ

หลักฐานที่ใช้ทำหนังสือเดินทาง
หลักฐานสำคัญในการทำหนังสือเดินทางสำหรับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป คือ "บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง" และในกรณีมีการแก้ไข ชื่อ สกุล หรือวันเดือนปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชน ก็ให้นำหลักฐานเหล่านั้นไปแสดงด้วยครับ
สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-20 ปี ให้นำบัตรประชาชนตัวจริง พร้อมบิดาและมารดามาลงนามทั้ง 2 คนครับ

ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง
การทำหนังสือเดินทางใช้เวลาไม่นานครับ รวดเร็วทันใจมาก (ไม่น่าเกิน 15 นาที) มีขั้นตอนในการทำคร่าวๆ ดังนี้ครับ
  1. รับบัตรคิว
  2. ยื่นบัตรประชาชน
  3. วัดส่วนสูง
  4. สแกนนิ้วมือ (10 นิ้ว)
  5. ถ่ายรูปใบหน้า
  6. เซ็นชื่อ
  7. แจ้งความประสงค์ว่าจะมารับหนังสือเดินทางเองหรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์ (หากยื่นที่กรมการกงสุล สามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการ หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5-7 วันทำการ)
  8. ชำระเงิน (ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ถ้าให้จัดส่งทางไปรษณีย์ EMS เสียค่าจัดส่ง 40 บาท และค่าซอง 25 บาท)
  9. กลับบ้าน ^__^
สำหรับต่างจังหวัด เท่าที่ทราบจะมีการจัดส่งหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์เท่านั้นครับ ถัดมาผมก็รวบรวมสถานที่ทำหนังสือเดินทางทั่วประเทศเอาไว้ โดยอ้างอิงจากหน้าเว็บของกรมการกงสุล ท่านใดอาศัยอยู่ใกล้จังหวัดไหนก็ไปใช้บริการได้เลยครับ

สถานที่ทำหนังสือเดินทางทั่วประเทศ
กรุงเทพมหานคร
  • กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ
    ที่อยู่ 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
    โทรศัพท์ 02-2035000 กด 1 (เมื่อเข้าสู่ระบบกรมการกงสุล กด 5 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่) มือถือ 093-0105248
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า
    ที่อยู่ ชั้น 5 อาคารเทสโก้โลตัส สาขาปิ่นเกล้า เลขที่ 3 ถนนบรมราชชนนี 11 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700
    โทรศัพท์ 02-4330280-87 โทรสาร 02-4332554 มือถือ 093-0105247
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา-ศรีนครินทร์
    ที่อยู่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้บางนาอาคาร"บางนาฮอลล์"(ด้านข้างศูนย์การค้า) ชั้น 5
    โทรศัพท์ 02-3838402-4 โทรสาร 02-3838398 มือถือ 093-0105246
  • สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (รับทำเฉพาะหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น)
    ที่อยู่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา(อาคารบี ประตูฝั่งทิศตะวันออก) ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
    โทรศัพท์ 02-2035000 ต่อ 49001-49012
  • สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศ (รับทำหนังสือเดินทางเฉพาะผู้ที่มีใบส่งตัวจากกรมการจัดหางานเท่านั้น)
    ที่อยู่ อาคารประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดินแดง กทม. 10400
    โทรศัพท์ 0-22459439, 0-22451042 โทรสาร 0-22459438
ภาคกลาง
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครสวรรค์
    ที่อยู่ ศูนย์บริการร่วมจังหวัดนครสวรรค์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ถนนพหลโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
    โทรศัพท์ 056-233453, 056-233454 โทรสาร 056-233452
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พิษณุโลก
    ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ถนนเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
    โทรศัพท์ 055-258173, 055-258155, 055-258131 โทรสาร 055-258117
ภาคเหนือ
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงใหม่
    ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 50000
    โทรศัพท์ 053-891535-6 โทรสาร 053-89-1534
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงราย
    ที่อยู่ อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลังใหม่ ถนนศูนย์ราชการ ตำบลริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย 57100
    โทรศัพท์ 053-175375 โทรสาร 053-175374
ภาคอีสาน
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครราชสีมา
    ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถนนมหาดไทยอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
    โทร 044-243132, 044-243124 โทรสาร 044-243133
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ขอนแก่น
    ที่อยู่ หอประชุมอำเภอเมืองขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
    โทรศัพท์ 043-242707, 043-242655 โทรสาร 043-243441
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุดรธานี
    ที่อยู่ ศูนย์อเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี (ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง) ถนนอธิบดี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 41000
    โทร 042-212827, 042-212318 โทรสาร 042-222810
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี
    ที่อยู่ อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 1 ด้านหลังผั่งทิศตะวันตก จังหวัดอุบลราชธานี 34000
    โทรศัพท์ 045-344581-2 โทรสาร 045-433646
    E-mail: passport_ubon@hotmail.com , facebook.com/ubonpassport
ภาคตะวันออก
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จันทบุรี
    ที่อยู่ อาคารลานค้าชุมชน ถ.เลียบเนิน ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000
    โทรศัพท์ 039-301706-9 โทรสาร 039-301707
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พัทยา
    ที่อยู่ ศูนย์การค้าพัทยาอเวนิว ชั้น 1 ถนนพัทยาสาย 2 เลขที่ 399/9 หมู่ 10 ถนนพัทยาสาย 2 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150
    โทรศัพท์ 038-422438 โทรสาร 038-422437
ภาคใต้
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สุราษฎร์ธานี
    ที่อยู่ ศาลาประชาคม ถนนหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
    โทรศัพท์ 077-274940, 077-274942-3 โทรสาร 077-274941
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต
    ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถนนนริศร อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000
    โทรศัพท์ 076-222080, 076-222081, 076-222083 โทรสาร 076-222082
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สงขลา
    ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จ.สงขลา 90000
    โทรศัพท์ 074-326508-10 โทรสาร 074-326511
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ยะลา
    ที่อยู่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ถนนสุขยางค์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
    โทรศัพท์ 073-274526, 073-274036, 073-274037 โทรสาร 073-274527
ข้อมูลอ้างอิง: กรมการกงศุล(consular.go.th)

เมื่อเราได้ทำหนังสือเดินทางแล้ว ก็รอรับอยู่กับบ้านได้เลย ไม่น่าเกิน 7 วันได้รับแน่นอน เมื่อหนังสือเดินทางอยู่ในมือแล้ว ช่างภาพท่านใดมีรูปพร้อมอยู่แล้ว ทางปลอดโปร่งเลยครับ สามารถสมัครเว็บสต๊อกโฟโต้เพื่อส่งขายรูปได้ทั่วโลกเลย 555+

เพิ่มเติมครับ เมื่อเราใช้ประโยชน์จากหนังสือเดินทางในการสมัครขายรูปแล้ว ประโยชน์อันที่แท้จริงของหนังสือเดินทาง รอท่านอยู่ นั่นคือ ต้องเดินทางไปต่างแดน (ถ้ามีโอกาส) โดยมี 31 ประเทศ/ดินแดน ที่เราคนไทย สามารถไปท่องเที่ยวได้เลย โดยที่ไม่ต้องของทำวีซ่า ถ้าพร้อมลุยก็ออกท่องโลกไปเก็บภาพแล้วนำมาสร้างรายได้กันโล้ดครับ... พี่น้อง... ^__^


ประเทศที่คนไทยไปโดยไม่ต้องขอวีซ่า(Visa)
  1. สิงคโปร์ (Singapore) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  2. มาเลเซีย (Malaysia) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  3. ลาว (Laos) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  4. กัมพูชา (Cambodian) ระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน
  5. เวียดนาม (Vietnam) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  6. อินโดนีเซีย (Indonesia) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  7. ฟิลิปปินส์ (Philippines) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  8. บรูไน (Brunei) ระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน
  9. ฮ่องกง (Hong Kong) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  10. มาเก๊า (Macau) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  11. ญี่ปุ่น (Japan) ระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน
  12. เกาหลีใต้ (South Korea) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  13. มัลดีฟส์ (Maldives) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  14. รัสเซีย (Russia) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  15. แอฟริกาใต้ (South Africa) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  16. ตุรกี (Turkey) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  17. มองโกเลีย (Mongolia) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  18. เปรู (Peru) ระยะเวลาไม่เกิน 183 วัน
  19. ชิลี (Chile) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  20. บราซิล (Brazil)  ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  21. อาร์เจนตินา (Argentina) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  22. เอกวาดอร์ (Ecuador) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  23. บาร์เรน (Bahrain) ระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน
  24. เซเชลส์ (Seychelles) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
  25. ฟิจิ (Fiji) ระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน
  26. ปานามา (Panama) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
  27. จอร์เจีย (Georgia) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  28. เฮติ (Haiti) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  29. สาธารณรัฐโดมินิกัน (Dominican Republic) ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  30. หมู่เกาะคุก (Cook Island) ระยะเวลาไม่เกิน 31 วัน
  31. วานูอาตู (Vanuatu) ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน
ข้อมูลอ้างอิง: กรมการกงศุล(consular.go.th), ไทยอินโฟเน็ต(thaiinfonet.com)

Monday, August 11, 2014

สัญจรครั้งแรก ณ โคราช

"อยากให้คุณกร แนะนำเทคนิค การถ่ายรูปดีๆให้ จะเป็นการรบกวนไหมค่ะ"

ข้อความทักจากคุณรส เพื่อนในเฟสบุ๊ค ซึ่งสนใจการถ่ายภาพขายออนไลน์ แต่ยังติดปัญหาในหลายเรื่อง เลยอยากให้ผมช่วยไปสอนให้หน่อย โดยมีเพื่อนร่วมงานของคุณรสอีก 5-6 ท่านที่สนใจเช่นกัน

"ยังไงดีว่ะเนี่ย ไม่มั่นใจจริงๆ" ผมคิดอยู่ในใจ (- -")

ผมก็ตอบกลับแบบแบ่งรับแบ่งสู้ (ยังตั้งตัวไม่ติด) เพราะคิดว่าตัวเองยังดีไม่พอสำหรับสอนถ่ายภาพ เลยซักถามพื้นฐานเกี่ยวกับการถ่ายภาพของคุณรสและเพื่อนๆแล้ว.... "เอาว่ะ น่าจะพอสอนได้"... เลยตอบตกลงกับคุณรสไป

เตรียมเอกสารการสอน

พอนัดแนะเวลากันคร่าวๆ และชักชวนสต๊อกเกอร์หน้าใหม่ไฟแรงคุณ Toony ไปร่วมทริปตะลุยโคราชกัน

สิ่งที่ผมกังวลเป็นสิ่งแรกๆคือ ผมไม่ค่อยเก่งเรื่องทฤษฎีการถ่ายภาพเท่าไหร่นัก ก็เคยหาอ่านในอินเตอร์เน็ตมาประมาณหนึ่งเมื่อสิบปีก่อน แต่พอได้ลงภาคปฏิบัติหลายต่อหลายครั้ง ทำให้มองว่าภาคทฤษฎีเป็นเรื่องไร้สาระจริงๆ มันคือสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเป็นกรอบกั้นความคิดสร้างสรรค์ ระดับผมนี่ ต้องออกนอกกรอบซิว่ะ (ทำเป็นเก่ง 555+)

คุณ Toony มืออาชีพมาเอง
ผมใช้เวลานั่งศึกษาวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้นอยู่ 2-3 วัน เพื่อทำเอกสารประกอบการสอนในฉบับเร่งรัด ทำให้เข้าใจบางสิ่ง(และหลายสิ่ง)ที่ผมละเลยไปในช่วงแรกของการศึกษาการถ่ายภาพ ต้องขอบคุณทางคุณรสและเพื่อนๆ ที่เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่ม ^_^

และอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ต้องสอนคือการส่งภาพขายออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้ผมพอที่จะพอไปวัดไปวาได้ ซึ่งคิดว่าคงไม่ใช่อุปสรรคในการสอนแน่นอน ก็เตรียมเอกสารไปแบบคร่าวๆ

ทริปตะลุยโคราชและอำเภอห้วยแถลง ภารกิจหลักคือไปเป็นวิทยากรสอนถ่ายภาพและส่งภาพขาย แต่ภารกิจรองนี่ซิ ผมตั้งใจมากกว่าภารกิจหลักเสียอีก นั่นคือ มาทำงานเป็นช่างภาพสต๊อก ถ่ายมันทุกอย่างที่พอขายได้

ทริปนี้ไป-กลับแบบชิลๆ ไม่เร่งรีบ ผมใช้บริการของรถไฟไทย ที่ยังคงรักษามาตราฐานการบริการที่ประทับจิต ประทับใจ คนไทยมาเป็นร้อยปี (ช้าไม่เคยเปลี่ยนแปลง 555+)

http://www.shutterstock.com/pic-209493262.html?rid=591133
รางรถไฟความเร็วต่ำของไทย ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นรางความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้

ออกจากสถานีบางซื่อกรุงเทพประมาณ 2 ทุ่มกว่า ถึงสถานีโคราชตี 2 ครึ่ง (I State Railway of Thailand) รถล่าช้ากว่ากำหนดการไปแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นประสบการณ์แปลกไปอีกแบบสำหรับการเดินเท้าหาที่พักตอนตี 3 (ดีน่ะที่จองผ่าน agoda ไว้แล้ว)

เช้ามาก็ออกจากที่พักสายนิดหน่อย และต้องรีบนั่งรถไปอีกอำเภอ เลยไปตั้งหลักที่สถานีขนส่งนครราชสีมา ใช้บริการรถทัวร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ห้วยแถลง (แต่เสียดายที่อดแวะสักการะย่าโม)

บรรยากาศการพูดคุย
พอถึงอำเภอห้วยแถลง ทางคุณรส พี่ติ๊ก คุณอร คุณแดง และเพื่อนๆ(โทษทีครับผมจำชื่อไม่ได้ทั้งหมด) ก็ต้อนรับผมกับคุณ Toony เป็นอย่างดีมากครับ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี่อีกครั้งครับผม ^_^

หลังจาก 5 ชั่วโมงผ่านไปในการสอนแบบเล่าเท่าที่ผมรู้ ทำให้ผมทราบถึงอุปสรรคต่างๆ ของผู้ที่สนใจการถ่ายภาพและอยากส่งภาพขายเพื่อสร้างรายได้เสริม อุปสรรคหลักๆ จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นนี่แหละครับ เช่น การเตรียมภาพ, เตรียมเอกสาร Passport, การสมัคร PayPal, การสมัครเว็บไมโครสต๊อกต่างๆ เป็นต้น


ผมกับคุณ Toony ก็แชร์ประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมฟังได้ประมาณนึงน่ะ และมีอีกหลายเรื่องที่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้มาก ด้วยเวลามีน้อย แต่ก็จะพยายามมาเขียนบล็อกอธิบายรายละเอียดในภายหลังน่ะครับ

เย็นวันนั้นผมไปฝากท้องไว้กับร้านไก่ย่าง-ส้มตำ ขอบคุณ พี่ติ๊ก คุณรส ที่เป็นเจ้ามืออาหารมื้อเที่ยงและมื้อค่ำ รวมถึงที่พักกาย ณ "สุขสันต์ รีสอร์ท"

http://instagram.com/korninrut
Selfie กันซักหน่อย

เช้าวันใหม่ ตื่นแต่เช้าตระเวนเดินหามุมถ่ายภาพ รอบๆที่พักและเดินไปเรื่อยจนถึงสถานีรถไฟห้วยแถลง และสำรวจรอบๆย่านตลาด อำเภอนี้เป็นอำเภอเล็ก เงียบๆ บรรยากาศโดยรอบเป็นทุ่งนาเสียส่วนใหญ่ เก็บภาพบรรยกาศไปจนเกือบเที่ยง ก็ขึ้นรถไฟกลับเมืองกรุง ถึงประมาณหกโมงเย็น จบทริปตะลุยโคราชเรียบร้อย

ปล. ถ้ามีโอกาส จะแวะไปกินไก่ย่างโคราชอีกน่ะครับ พี่ๆน้องๆชาวห้วยแถลง


http://www.shutterstock.com/pic-209493265.html?rid=591133

http://www.shutterstock.com/pic-209493259.html?rid=591133

http://www.shutterstock.com/pic-209493337.html?rid=591133

http://www.shutterstock.com/pic-209488708.html?rid=591133

http://www.shutterstock.com/pic-209493334.html?rid=591133

http://www.shutterstock.com/pic-209466691.html?rid=591133

Sunday, June 8, 2014

ไอเดียการปรับแต่งภาพถ่ายสำหรับงานสต็อกโฟโต้

"จบหลังกล้อง" หรือ "จบหลังคอมฯ" เป็นวลีที่ใช้ในกลุ่มช่างภาพด้วยกัน ว่าใครมีแนวในการได้มาซึ่งภาพถ่ายที่สวยงามนั้นด้วยวิธีใด "จบหลังกล้อง" คือช่างภาพจังหวะฝีมือ หลังจากเสียงของชัตเตอร์จบลง ไฟล์ภาพที่ได้แทบจะสมบูรณ์แบบ ทั้งความพอดีของแสง องค์ประกอบโดยรวมเป๊ะมากๆ แต่ก็มีเยอะ (ทั้งมือโปร มือกึ่งโปร หรือมือสมัครเล่น) ที่ได้ภาพออกมาแล้วยังไม่พอใจในสิ่งที่เห็น จำเป็นต้องส่งไป "จบหลังคอมฯ" ผ่านโปรแกรมอย่าง Adobe Lightroom หรือ Adobe Photoshop ซักหน่อย แล้วทุกอย่างจะแจ่มแจ๋ว :)

รูปที่ 1 - จบหลังกล้อง

ในยุคดิจิตอลเป็นอะไรที่หลีกหนีกระบวนการ "จบหลังคอมฯ" ไม่ได้จริงๆ ผมเองแทบทุกรูป จะต้องนำไปผ่านเวทมนต์ของ Photoshop ทุกครั้ง มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ไม่ได้เก่ง Photoshop อะไรมาก แบบว่าถ่ายภาพเพื่อนฝูงออกมาหน้ามืดกันทุกคน จำเป็นต้องไปปรับให้หน้าทุกคนสว่าง ให้สวย ให้หล่อ ก่อนที่จะส่งภาพนั้นไปอวดเพื่อนฝูง... แบบฟรุ้งฟริ้งๆ

http://www.adobe.com
รูปที่ 2 - โปรแกรมแต่งภาพยอดนิยม
แต่ใช่ว่าการ "จบหลังคอมฯ" จะเสกได้ทุกอย่างครับ ถ้าถ่ายมาเบลอ ดำมืดเกินไป สว่างจ้าเกินไป จนรายละเอียดหายไป หรือจัดองค์ประกอบไม่ดี เช่น ถ่ายใบหน้าเพื่อนแล้วหูหายไปข้างนึง ครั้นจะให้ Photoshop มาช่วยนั้น ลำบากแท้ๆ


เมื่อผมเข้าสู่วงการสต๊อกโฟโต้ใหม่ๆ ก็ยังไม่กล้าแต่งภาพอะไรมากมาย กลัวว่าทีมงานตรวจภาพของเว็บไมโครสต็อกจะรู้ว่าภาพถูกเติมแต่งมา แล้วจะส่งผลให้ภาพเหล่านั้นไม่ผ่านการพิจารณา พอผ่านไปซักระยะผมสังเกตุเห็นภาพของพวกฝรั่งที่อวดโฉมขายกันในเว็บ ทำไมสีมันสดมากๆ ทำไมกล้องของผมถึงถ่ายไม่สวยสดอย่างนี้บ้าง ก็เลยเริ่มลองของครับ

รูปที่ 3 - อาชีพช่างภาพสต๊อกโฟโต้
(*** Toony เป็นช่างภาพมือใหม่
และเพิ่งผันตัวเองมาเป็นคนขายภาพออนไลน์
เขาได้เริ่มเขียนบล็อกแนะนำประสบการณ์ตรง
จากคนถ่ายภาพไม่เป็นเลย
จนเข้าสู่วงการสต๊อกโฟโต้ในปัจจุบัน)
ช่วงแรกๆ ผมก็ลองปรับดูนิดๆหน่อยๆ เพิ่มความสว่างนิดนึง(Brightness) ปรับสีเข้มขึ้นนิดนึง(Saturation) ปรับความเปรียบต่างนิดนึง(Contrast) ปรับความคมชัดนิดนึง(Sharpen) ปรับแก้สีที่เพี้ยน(Color Balance) แล้วลองส่งไปตรวจดู บางรูปก็ผ่านแบบเฉียดฉิว บางรูปก็โดนตีตกแบบไม่เป็นท่าด้วยข้อหา ใช้เวทมนต์มากเกินไป "Overuse--Image has excessive noise reduction and/or excessive sharpening effects applied."

ทำไปสักพักแล้วเราจะรู้เองว่าการปรับแบบไหนเป็นการล้ำเส้น ปรับแบบไหนที่เหยียบบนเส้นพอดี และปรับแบบไหนที่ยังไม่ถึงเส้น ในส่วนเทคนิควิธีการปรับต่างๆ ผมยังไม่ลงรายละเอียดมากน่ะครับเพราะยังไม่เก่งพอ ฝีมือแค่พอเอาตัวรอดไปวันๆ 555+ ดังนั้นบล็อกนี้ผมจะเน้นไปที่แนวไอเดียการปรับแก้ภาพที่จบหลังกล้องไม่สวย ให้มาจบหลังคอมฯ แบบพอไปวัดไปวาได้ในแบบของผมเอง

เมื่อลองเปรียบเทียบรูปที่ 4 (ผลงานของผมเอง) กับรูปที่ 5 (ผลงานช่างภาพชาวแคนาดา) มันช่างดูแตกต่างกันเหลือเกิ้น... ซึ่งแน่นอนว่าเวลาที่ลูกค้าค้นเจอสองภาพนี้พร้อมๆกัน ลูกค้าก็ย่อมเลือกผลงานที่ดูสวยสดใสเป็นแน่แท้ ส่วนภาพผมก็เก็บไว้เป็นความภูมิใจส่วนตัวเงียบๆคนเดียว

http://www.shutterstock.com/pic-52694725.html?rid=591133
รูปที่ 4 - ภาพพระนอนวัดโพธิ์ ฝีมือของผมเอง (ดูเชยสิ้นดี)

http://www.shutterstock.com/pic-98302415.html?rid=591133
รูปที่ 5 - ภาพพระนอนวัดโพธิ์ ของมืออาชีพ (สวยงามยิ่งนัก) (Photo Credit: Dmitry Rukhlenko)

ผมจะยกตัวอย่างภาพถ่ายแบบจบหลังกล้องของผมเทียบกับภาพที่ผ่านการปรับแต่งแล้ว และมีออนไลน์อยู่ในเว็บสต๊อกโฟโต้ จะได้เป็นไอเดียให้กับเพื่อนๆ ดังนี้


ปรับแสงให้พอดี

มาถึงไอเดียตัวอย่างแรก ซึ่งผมคิดว่าช่างภาพหลายๆท่าน คงมีภาพแนวนี้ที่ถ่ายมามันมืดไปหน่อย (Under) และถ้าจะส่งภาพเหล่านี้ไปขายเลยนั้น แน่นอนจะเสี่ยงไม่ผ่านการพิจารณา หรือถ้าฟลุ๊คผ่านไป (เหมือนรูปที่ 5 ของผม) โอกาสขายออกยากมากครับ ภาพนี้ผมปรับความสว่าง Exposure ขึ้น จากโปรแกรม Adobe Camera Raw

รูปที่ 6 - ดอกกล้อยไม้ (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-70291756.html?rid=591133
รูปที่ 7 - ดอกกล้วยไม้ (หลังแต่งภาพ)


ปรับแก้ภาพเอียง

การถ่ายภาพด้วยมือเปล่าโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ภาพที่ได้อาจจะมีเอียงบ้างไรบ้าง องค์ประกอบของภาพโดยรวมอาจจะดูไม่สวยงาม จะต้องผ่านกระบวนการหมุนภาพนิดหน่อย ผ่านฟังก์ชัน Edit > Transform > Rotate ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 8 - วัดร่องขุ่น (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.dreamstime.com/stock-photography-image14556064#res2291920
รูปที่ 9 - วัดร่องขุ่น (หลังแต่งภาพ)


การครอปภาพ (Crop)

บางกรณี ภาพที่เราคิดกว่าถ่ายแบบจัดองค์ประกอบศิลป์ (Composition) ได้อย่างสวยงามแล้ว แต่คนตรวจภาพตามสต๊อกโฟโต้ในต่างประเทศอาจจะตาไม่ถึง มองงานศิลป์ของเราด้อยไป ผมเลยต้องนำภาพที่สวยอยู่แล้วนั้น(คิดไปเอง) มาตัดใหม่ผ่านการครอปในฟังก์ชัน Image > Crop ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 10 - เสือโคร่ง (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-59072032.html?rid=591133
รูปที่ 11 - เสือโคร่ง (หลังแต่งภาพ)


ปรับแก้ WB

แสงสีของภาพหลังจากที่เราถ่ายแบบจบหลังกล้องเสร็จแล้วนั้น แรกๆ ก็คิดว่าเหมาะสมแล้ว สวยงามแล้ว แต่พอโหลดลงคอมฯ เท่านั้นแหละ มองไปมองมา สีมันเพี้ยนๆยังไงไม่รู้ สำหรับช่างภาพมืออาชีพจะสามารถตั้งค่าสมดุลย์แสงสีขาว (White Balance) ให้เข้ากับทุกๆสถานการณ์ที่เจอ แต่มือสมัครเล่นอย่างผมก็ยังตั้งมั่วไปมั่วมา อันไหนพอดีก็ฟลุ๊ค อันไหนไม่พอดี ก็ไปจบหลังคอมฯ 555+ ผมปรับแต่งสีเพี้ยนโดยปรับ Temperature และ Tint ผ่านโปรแกรม Adobe Camera Raw

รูปที่ 12 - ห้องในโรงแรม (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.123rf.com/photo_20013545.html#foto76
รูปที่ 13 - ห้องในโรงแรม (หลังแต่งภาพ)


ลบฝุ่น ลบสิ่งไม่พึงประสงค์

กรณีนี้เป็นสิ่งที่มองแบบผิวเผิน อาจคิดว่าภาพเราก็โอเคแล้วน่ะ แสงโอเค สีโอเค องค์ประกอบยิ่งโอเคไปใหญ่ แต่คนตรวจภาพของเว็บสต๊อกโฟโต้ กลับมองในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือบางสิ่งที่เราเห็นกลับคิดว่าคงไม่เป็นไรหรอก แต่สิ่งนั้นเพียงจุดเล็กๆ ทำให้ภาพไม่ผ่านการพิจารณา หรือถ้าผ่านไปได้ ยอดขายก็จะไม่ดีเท่าที่ควรครับ ผมมักรีทัชภาพ (Retouch) ผ่านเครื่องมือ Patch Tool ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 14 - หน้าต่าง (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-155280896.html?rid=591133
รูปที่ 15 - หน้าต่าง (หลังแต่งภาพ)


ลบโลโก้ เครื่องหมายทางการค้า

สิ่งหนึ่งนอกเหนือการควบคุมของช่างภาพสต๊อก คือไปเจอสิ่งที่สวยงาม แต่สิ่งนั้นดันมีข้อห้ามของทางเว็บสต๊อกโฟโต้ ทำไงได้หล่ะ ก็ต้องกดถ่ายความงามนั้นมาก่อนแล้วค่อยมาปรับแก้หลังคอมฯ ในภายหลัง บางกรณีการหาเหลี่ยมเพื่อหลบโลโก้นั้นก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆก็ต้องรีทัชออกน่ะครับ ผมมักใช้เครื่องมือ Patch Tool ของ Adobe Photoshop เข้าช่วย

รูปที่ 16 - รถแมคโครตักดิน (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-119189023.html?rid=591133
รูปที่ 17 - รถแมคโครตักดิน (หลังแต่งภาพ)


ไดคัทภาพ (Die Cut)

มาถึงตัวอย่างสุดท้ายของบล็อกนี้ หลายต่อหลายรูปที่ผมได้ลองส่งไปขายแล้วมีทั้งไม่ผ่านการตรวจ ถึงผ่านไปได้ก็ขายไม่ได้เลย พอเริ่มศึกษางานของช่างภาพที่ขายดีๆ เค้าจะมีภาพหลังขาว (Isolated) ที่ถ่ายวัตถุอะไรก็ได้ ทำให้วัตถุนั้นง่ายต่อการนำไปใช้ของลูกค้า แน่นอน ผมไม่มีไฟสตูดิโอไว้ถ่ายในแนวนี้ แต่อยากมีภาพแนวนี้ประดับ Portfolio กับเค้าบ้าง ผมเลยต้องใช้กำลังภายในผ่าน Polygonal Lasso Tool ของ Adobe Photoshop ร่วมกับเทคนิคตัดโน้นแปะนี่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ^_^

รูปที่ 18 - ทีวีเก่า (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-188987042.html?rid=591133
รูปที่ 19 - ทีวีเก่า (หลังแต่งภาพ)

บล็อกนี้นำเสนอไอเดียพอเป็นสังเขป ผมขอเก็บเล็กผสมน้อยประสบการณ์แต่งภาพให้มากกว่านี้ แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกในโอกาสต่อไปครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับผม :-)

http://instagram.com/korninrut
ไว้เจอกันบล็อกหน้าครับ

Wednesday, May 7, 2014

ทำธุรกิจออนไลน์ Stock Photos ครบ 4 ปีแล้วครัช!

ครบกำหนดที่ต้องสรุปยอดกันอีกซักที ในรอบ 4 ปี ที่ผมล้มลุกคลุกฝุ่นอยู่ในวงการ สต็อกโฟโต้ (Stock Photos) การที่ได้มีเวลามาสรุปผลในแต่ละปี ก็มีประโยชน์มากครับ ทำให้ได้เห็นหน้าเห็นหลัง ทำให้ได้คิดว่าจะเดินหน้าไปยังไงต่อ จะหยุดทำแล้วไปหาอาชีพที่มั่นคงกว่าทำดี หรือจะประคับประคองต่อไปเรื่อยๆ หรือจะตะลุยต่อไปให้ถึงที่สุด

(สามารถตามอ่านย้อนหลังบล็อกก่อนหน้านี้ "สรุปผล 3 ปีกับการขายภาพถ่าย/วิดีโอ ผ่านเว็บ Stock Photo" และ "2 ปีกับการขายภาพออนไลน์")

แน่นอนครับ ผมเลือกที่จะลุยมันต่อไป โดยมีเพื่อนหลายคนที่คิดจะเริ่มเข้าสู่วงการขายภาพถ่ายออนไลน์ ถามมาบ่อยๆว่า... วงการนี้จะอยู่ได้อีกนานไหม? วงการนี้จะเติบโตไหม? จะยึดเป็นอาชีพหลักได้ไหม?... ผมก็ตอบตามความเชื่อว่า วงการอยู่ได้อีกนานไม่ต้องห่วง แต่การจะยึดเป็นอาชีพหลักได้นั้น เราต้องมีผลงานที่โดดเด่นระดับนึงก่อน สะสมผลงานให้มากพอควร ถึงจะมียอดขายที่ดีสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (มีช่างภาพคนไทยหลายท่านที่ยึดวงการสต็อกโฟโต้เป็นอาชีพหลัก) แต่ถ้าจะทำเป็นอาชีพเสริม ผมว่ามันเหมาะมากที่สุดสำหรับคนที่มีใจรักในการถ่ายภาพทุกท่าน (ผมเองก็ยังอยู่ในสถานะนี้)


ในรอบ 3 ปีก่อนหน้านี้ ผมเองก็ยังไม่ค่อยภาคภูมิใจในการเป็นช่างภาพแนวสต๊อกเท่าไหร่นัก เพราะยังไม่ผ่านด่านการสอบเข้าเป็นช่างภาพของ iStockphoto ซึ่งเป็นหนึ่งใน Top 5 ของวงการสต๊อกโฟโต้ แต่พอเข้าปีในที่ 4 กับโอกาสการสอบในครั้งที่ 8 ในที่สุดผมก็ทำได้ครับ นั่นเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ผมยังเดินต่อในเส้นทางนี้ ^_^

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง ผมได้สมัครเป็น Exclusive Videographer ที่ iStockphoto นั่นคือส่งวิดีโอขายให้กับที่เว็บ iStockphoto เว็บเดียวเท่านั้น ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้นอีกนิดหน่อย ก่อนหน้านี้ผมได้ลองฝึกการถ่ายวิดีโอเล่นๆ และลองส่งขายไปหลายเว็บ แต่ยอดขายก็ไม่ดีเลย ประกอบกับเวลามีน้อยเลยวัดดวงส่งแค่เว็บเดียวพอ ยอดขายก็พอมีมาบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ คงต้องฝึกฝีมืออีกหลายปี 555+

นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมาก็ได้สมัครเว็บสต็อกโฟโต้แห่งใหม่เพิ่มเติม ด้วยว่าอันตัวเรานั้นมันมีของอยู่แล้ว (รูปถ่าย) ก็เลยอยากจะหาที่ปล่อยของเพิ่ม ก็เริ่มส่งภาพไปยังเว็บ Pond5, Mostphotos, Pixmac, Cutcaster และ Clashot ซึ่งยอดขายยังคงบางตามากถึงมากที่สุด (ผิดหวังนิดหน่อย) ก็เลยกลับไปทุ่มเทกับเว็บสต๊อกโฟโต้ตัวหลักๆก่อน และถ้าว่างเมื่อไหร่ ฉันจะไม่ลืมจะแวะไปปล่อยของอีก

รูปที 1 - ภาพถ่ายที่ถูกเลือกเผยแพร่ในนิตยสาร "ข้าวไทย"

อีกหนึ่งความปลาบปลื้มใจส่วนตัวของผม คือไปเจอผลงานภาพถ่ายตัวเองได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร "ข้าวไทย" ในฐานะคนชอบสร้างภาพ(ถ่าย) การได้ถ่ายภาพถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต การได้มีรูปออนไลน์บนเว็บเอเจนซี่ระดับโลกก็ดีใจมากแล้ว และยิ่งมีรูปขายได้ด้วยก็ยิ่งดีใจมากขึ้นไปอีก (มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง 555+)

ภาพชื่อว่า "Thai farmer" ภาพนี้อาจจะไม่ได้สวยงามมาก เพราะสมัยนั้นผมยังมือใหม่อยู่ แต่เมื่อลูกค้าชาวไทยเลือกซื้อไป (ไทยทำไทยใช้) ผมก็ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ (^^) นึกย้อนกลับไปก็อดขำไม่น้อย ผมถ่ายคุณยายท่านหนึ่งในแปลงนาข้างๆ แปลงนาของคุณแม่ผม ในยุคที่มีโครงการประกันราคาข้าว สมัยรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ แต่ถูกนำมาใช้สะท้อนปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ :P


วกกลับมาเรื่องสรุปผลการขายภาพครบ 4 ปีกันดีกว่า ภาพรวมของวงการขายภาพออนไลน์ยังถือว่าไปได้ดีครับ รวมแล้วผมสมัครขายภาพไป 22 เว็บ แต่เว็บหลักๆที่ผมเน้นจริงๆ คือ 10 อันดับแรก (ดูตารางที่ 1) ในส่วนของรายได้รวมทุกเว็บ สี่แสนกว่าๆ ส่วนตัวแล้วผมว่ายังไม่เข้าเป้าน่ะ สำหรับงานที่ทำอยู่ 4 ปี (มันน่าจะได้มากกว่านี้ 555+) แต่ถ้ามองในแง่โอกาสของการเติบโตในสายงานนี้ยังเปิดกว้างอยู่มาก งานที่ต้องการไอเดีย งานที่ต้องขยั่นหมั่นเพียร เป็นงานอิสระ เป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งทำประจำติดอยู่กับออฟฟิต ไม่ต้องรูดบัตรเข้า 8 โมงเช้า รูดออก 5 โมงเย็น แค่มีคู่แข่งในระดับโลกเพียงไม่กี่แสนคนก็เท่านั้นเอง (- -")

No. Stock Photos Online images Online footages Total sales Total earnings(Baht)
1. Shutterstock 3,207 0 16,224 295,590
2. Freedigitalphotos 1,708 0 284 39,270
3. Fotolia 2,285 0 1,764 32,550
4. 123rf 3,716 0 1,046 26,760
5. Dreamstime 2,353 0 780 24,000
6. iStockphoto 2,222 115 108 17,249
7. Depositphotos 4,356 0 513 8,220
8. Canstockphoto 3,663 0 154 6,640
9. Veer 3,017 0 119 6,240
10. Photodune 3,991 0 228 6,240
11. Bigstockphoto 741 0 65 3,360
12. Graphicleftovers 3,167 0 73 2,940
13. Colourbox 4,422 0 313 2,720
14. Alamy 182 0 4 1,080
15. Yaymicro 2,920 0 17 510
16. Pond5 559 0 1 173
17. Photokore 2,151 0 12 90
18. Crestock 50 0 6 45
19. Mostphotos 1,090 0 1 40
20. Pixmac 265 0 1 30
21. Clashot 35 0 4 19
22. Cutcaster 70 0 0 0
     T O T A L 21,717 474,265
ตารางที่ 1 - Summary of microstock photography earnings (4 years)
หมายเหตุ:
  • Online images คือภาพใน Portfolio ที่ผ่านกันอนุมัติแล้ว
  • Online footages คือวิดีโอคลิปที่ผ่านการอนุมัติแล้ว (ผมส่งขายที่ iStockphoto เว็บเดียวเท่านั้น)
  • Total sales คือยอดรวมจำนวนการดาวน์โหลดของลูกค้า
  • Total earnings (Baht) คือยอดรายได้รวม 4 ปี (เรทในการคำนวณอยู่ที่ 30 บาท/เหรียญ)

ผมขอลงรายละเอียดเพิ่มเติมของเว็บ Shutterstock สักหน่อย เพราะเป็นเว็บเอเจนซี่รายใหญ่ที่ทำรายได้ให้ผมมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดที่ได้มา เมื่อพิจารณาจากรูปที่ 2 เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์รายได้รวม 4 ปี แบ่งตามแต่ละเว็บเอเจนซี่ จะเห็นว่า Shutterstock นำโด่งที่ 62% รองลงมาเป็น Freedigitalphotos ที่ 8% เว็บนี้ทำให้ผมเซอร์ไพรส์มาตลอด จนสามารถทำรายได้เบียดแซง Fotolia, Dreamstime, 123rf และ iStockphoto

รูปที่ 2 - กราฟแสดงสัดส่วนรายได้รวมจากเว็บเอเจนซี่สต๊อกโฟโต้

บทวิเคราะห์ส่วนตัวของผม ยอดขายที่ดีในเว็บ Shutterstock นอกจากเป็นเพราะเว็บนี้ทำการตลาดได้ดีมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือแนวการถ่ายภาพของผมคงเข้าทางกลุ่มลูกค้าของเว็บนี้ เช่น แนวธรรมชาติ ดอกไม้ ภาพวิว แต่แนวนี้คงไม่ทางเว็บ Fotolia, Dreamstime และ 123rf เอาซ่ะเลย 555+

ส่วนเว็บ iStockphoto ยอดขายยังเป็นรองอีกหลายเว็บ เพราะผมเพิ่งสอบผ่านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 นี่เอง ทำให้ระยะเวลาในการขายยังไม่ถึงปี จึงทำให้สู้เว็บที่ขายมานานกว่า 4 ปีไม่ได้ คิดว่า iStockphoto น่าจะทำให้รายได้ให้ผมดีขึ้นในปีหน้า (หวังลึกๆ)

รูปที่ 3 - กราฟเปรียบเทียบสัดส่วนของรูปที่ขายได้กับรูปที่ขายไม่ได้

มาดูสถิติเกี่ยวกับสัดส่วนภาพที่ขายได้และขายไม่ได้(เล้ยจริงๆ) บางภาพนอนนิ่งอยู่ในพอร์ทผมมา 4 ปีเต็ม ไม่มีสัญญาณตอบรับจากลูกค้าเลย 555+ จากจำนวนรูปทั้งหมดในพอร์ทผมที่ Shutterstock (3,207 ภาพ) ภาพที่ขายไม่ได้เลยมีอยู่ถึง 44% ที่ขายได้แน่ๆก็ 56% แต่สัดส่วนภาพที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำมีอยู่แค่ 1-2% เท่านั้น!

ภาพที่มีจำนวนโหลดมากกว่า 50 โหลดขึ้นไป รวมแล้วมี 2% ซึ่งจำนวนอันน้อยนิดเหล่านี้สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ที่ได้จากเว็บ Shutterstock ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าภาพไหนอนาคตจะขายดีหรือไม่ จนกว่าลูกค้าจะเป็นผู้ให้คำตอบนั้น (คมมาก) บางภาพตั้งใจถ่ายมาก ลงทุนซื้ออุปกรณ์ประกอบมากมาย กลับขายได้แค่โหลดสองโหลด แต่ภาพที่ถ่ายแบบไม่ตั้งใจช่วงไปทริปต่างจังหวัดนี่และ ถ้าโดนขึ้นมาน่ะ กินยาวจริงๆครับ

รูปที่ 4 - กราฟแสดงจำนวนภาพในพอร์ทเทียบกับรายได้ในแต่ละปี

สำหรับสถิติปิดท้ายในบล็อกนี้คือ อัตราการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปของผม โดยแสดงให้ดูว่า จำนวนภาพที่ทยอยสะสมอยู่ในพอร์ท ยิ่งมีปริมาณมากขึ้น (ต้องเน้นคุณภาพด้วยน่ะครับ) อัตราการเติบโตของรายได้ก็ทยอยเพิ่มตาม รับรองว่าอาชีพสายงานคนชอบสร้างภาพ(สร้างวิดีโอและสร้างภาพเวกเตอร์) ส่งขายไปทั่วโลกนั้น ยังรุ่งอยู่น่ะครัช... พี่น้องครัชชช...