Monday, January 19, 2015

การสมัคร PayPal เพื่อรับเงินจาก Stock Photo (Part 1)

สวัสดีครับ มิตรรักแฟนบล็อกทุกท่าน บล็อกก่อนหน้านี้ผมได้แนะนำให้ทำหนังสือเดินทาง เพื่อเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่วงการขายภาพออนไลน์อย่างมั่นใจ ส่วนบล็อกล่าสุดตอนนี้จะมาว่ากันด้วยเรื่องเงินล้วนๆ ซึ่งเป็นกระบวนการท้ายสุดของห่วงโซ่การทำธุรกิจขายภาพถ่ายออนไลน์เลยครับพี่น้อง... (คุณคิดเหมือนผมมั้ย ^^)


ผลสำเร็จสุดท้ายของทุกวงการธุรกิจก็คือเงิน แต่ก่อนที่จะได้มีเงินมาอยู่ในกำมือเรานั้น สำหรับนักสร้างภาพ(ถ่าย)ทุกท่าน จำเป็นอย่างยิ่งในการที่ต้องสมัครบัญชี PayPal เอาไว้ก่อนเลยครับ ถึงแม้จะมีช่องทางการรับเงินแบบอื่นให้เลือกอย่าง "Check by Postal Mail" หรือ "Moneybookers" แต่กว่าจะได้รับเงินจะช้ากว่า PayPal มากครับ


PayPal คืออะไร?

PayPal อ่านว่า เพย์พาลหรือเพย์แพล เป็นธนาคารออนไลน์ที่ให้บริการโอนเงินและจ่ายเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่มีความปลอดภัยสูงมาก โดย PayPal มีเจ้าของคือบริษัท eBay เว็บให้บริการประมูลสินค้าออนไลน์ระดับโลก PayPal จึงเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การซื้อขายสินค้าบนเว็บ eBay เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย

ในฐานะธนาคารออนไลน์ PayPal จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในการโอนเงินไปมาของบุคคลทั่วไปหรือในองค์กรธุรกิจต่างๆ ระหว่างประเทศรวม 203 ประเทศ และรองรับสกุลเงินทั่วโลก 26 สกุลเงิน (รวมเงินบาทไทยด้วย)

พอมอง PayPal เป็นธนาคารออนไลน์ ที่นี่มีข้อดึหลายอย่างครับ ยกเว้นไม่มีดอกเบี้ยให้เหมือนธนาคารท้องถิ่นทั่วไป แต่แลกกับการอำนวยความสะดวกในการโอนเงินไปมาระหว่างประเทศ อาจมีค่าธรรมเนียมบ้างนิดหน่อยก็ยังถือว่าคุ้ม โดยเฉพาะการนำบัญชี PayPal มาใช้เป็นช่องทางการรับเงินจากธุรกิจขายภาพถ่ายผ่านเว็บแล้ว สะดวกสุดๆครับ

Photo credit: paypal.com

การสมัคร PayPal

เกริ่นกันมาได้พอสมควรแล้ว เริ่มสมัครกันเลยดีกว่าครับ โดยปกติ PayPal จะมีหน้าเว็บไว้รองรับในทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.paypal.com/th จะแสดงผลหน้าแรกของเว็บ PayPal ดังรูปที่ 1 ในการเริ่มสมัครใช้งานให้คลิกที่ "สมัครสมาชิก" ด้านบนขวามือของหน้าจอ แล้วจะเข้าสู่หน้าการสมัครสมาชิก ดังรูปที่ 2

รูปที่ 1 - หน้าแรกของเว็บ PayPal ประเทศไทย

รูปที่ 2 - หน้าเริ่มสมัครสมาชิก PayPal แบบใหม่

แต่หน้าเว็บของ PayPal จะมีแบบดั่งเดิม ซึ่งยังคงมีเปิดใช้งานอยู่ ถ้าท่านเข้าไปเจอหน้าเว็บ ดังรูปที่ 3 ก็ให้คลิก "ลงทะเบียนวันนี้" แล้วจะเข้าไปเจอหน้าจอดังรูปที่ 4

รูปที่ 3 - หน้าแนะนำการสมัครใช้งาน PayPal

รูปที่ 4 - หน้าเริ่มสมัครสมาชิก PayPal แบบเดิม

โดยทั้งหน้าจอแบบใหม่ (รูปที่ 2) ให้กดเลือกเปิดบัญชีแบบแรก ส่วนหน้าจอแบบเดิม (รูปที่ 4) ก็ให้เลือกประเภทบัญชีแบบแรกเช่นกันครับ (บัญชีบุคคลทั่วไป) ซึ่งทั้งสองแบบก็จะเข้าสู่หน้าจอกรอกข้อมูลส่วนตัวเหมือนกันครับ ดังรูปที่ 5

สำหรับการแนะนำให้เลือกสร้างบัญชี PayPal แบบแรกไปนั้น เป็นประเภทบัญชีที่สามารถนำมาใช้รับเงินจากเอเจนซี่ไมโครสต๊อกทั่วโลกได้แล้วครับ แต่สำหรับท่านใดต้องการเปลี่ยนบัญชีไปเป็นประเภทอื่น เพื่อทำการค้า ก็สามารถเปลี่ยนได้ในภายหลังครับ

รูปที่ 5 - หน้ากรอกข้อมูลการสมัครใช้งาน PayPal

หน้ากรอกข้อมูลนี้ ถึงแม้ภาษาที่แสดงจะเป็นภาษาไทย เพื่อความเป็นกันเองกับคนไทย แต่ข้อมูลที่ต้องกรอก จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นน่ะครับ ย้ำเลย :-)

1. ที่อยู่อีเมล (คุณต้องใช้ข้อมูลนี้เพื่อเข้าสู่ระบบ PayPal)

ข้อมูลแรกคือ E-mail ของท่านเอง หัวข้อนี้ผมขอขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า กรอกเน้นๆ ทำไมเหรอ? ก็เพราะว่าอีเมลที่ท่านจะกรอกนี้จะเปลี่ยนแปลงทีหลังไม่ได้แล้ว ซึ่งอีเมลนี้มีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนเลขที่บัญชีธนาคารของท่านเลย นั่นคือ ถ้าเราต้องการให้เพื่อนโอนเงินให้เราผ่านบัญชีธนาคารในไทย เราก็แค่ส่งเลขที่บัญชี 10 หลัก เช่น "123-456789-0" พร้อมชื่อธนาคารให้เพื่อน

แต่ถ้าเป็นธนาคารออนไลน์อย่าง PayPal จะไม่มีเลขที่บัญชีแบบนั้น แต่ PayPal จะใช้อีเมลแทนเลขที่บัญชีเลย เช่น ถ้าท่านกรอกอีเมล abc@xyz.com ดังนั้น abc@xyz.com คือเลขที่บัญชีของท่านเลย และท่านสามารถใช้อีเมลนี้ไปให้คนที่มีบัญชี PayPal เหมือนกัน เค้าสามารถส่งเงินให้ท่านได้ และแน่นอนเหล่าเว็บเอเจนซี่ไมโครสต๊อกทั้งหลายก็จะมีช่องให้กรอกอีเมลนี้ ในการที่ส่งเงินให้เราเช่นกันครับ

นอกจากจะใช้แทนเลขที่บัญชีแล้ว อีเมลนี้ยังใช้เป็น username ในการ login เข้าสู่ระบบ PayPal ด้วย ดังนั้น ผมแนะนำว่าไม่ควรเป็นอีเมลเดียวกันกับอีเมลที่ใช้ติดต่อกับเพื่อนฝูงหรืออีเมลที่ใช้สมัครตามเว็บทั่วไป เพื่อความปลอดภัยครับ

2. เลือกรหัสผ่าน

ช่องกรอก Password เพื่อจะใช้ในการเข้าระบบ PayPal ความสำคัญในส่วนนี้ผมเปรียบกับรหัส ATM เลยก็ว่าได้ สำคัญมาก ถ้าตั้งรหัสง่ายๆ ประกอบกับใช้อีเมลที่เพื่อนฝูงรู้กันหมด การที่จะเดารหัสผ่านนั้นคงไม่ยากเกินไป ดังนั้นทาง PayPal ก็มีข้อแนะนำในการตั้งรหัสผ่านดังนี้

- ป้อนอักขระ 8-20 ตัว
- อย่าใช้ชื่อหรือที่อยู่อีเมลของคุณ
- ใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ ตัวเลข และสัญลักษณ์ผสมกัน
- ตั้งรหัสผ่านให้เดาได้ยาก แม้ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนสนิทก็ตาม


ตามนั้นน่ะพี่น้อง ผมละโดนใจข้อสุดท้ายนี้แหละ 555+ เมื่อท่านได้กรอกรหัสผ่านไปแล้ว ไม่โดนใจสิ่งที่เว็บคาดหวังไว้ ก็จะแจ้งท่านทราบว่ารหัสผ่านของท่าน "ไม่ปลอดภัย!" และควรตั้งรหัสใหม่ให้ยากกว่านี้ และถ้าท่านตั้งได้ยากสุดๆ ก็จะมีข้อความแจ้งท่านว่า "ปลอดภัย" ดังรูปที่ 6 (ขวามือ)

รูปที่ 6 - ข้อความแจ้งผลการตั้งรหัสผ่าน

3. ป้อนรหัสผ่านอีกครั้ง

ป้อนรหัสผ่านให้เหมือนข้อที่ 2 อีกครั้ง please...

4. ชื่อ

กรอกชื่อของท่านเป็นภาษาอังกฤษ (ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อ)

5. นามสกุล (ชื่อในบัญชี PayPal ของคุณจะต้องตรงกับชื่อในบัญชีธนาคารของคุณ)

กรอกนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ ในส่วนนี้ก็สำคัญมากครับ ทางเว็บ PayPal พยายามเน้นว่า ควรเป็นนามสกุลที่ตรงกับบัญชีธนาคารในไทยด้วย เพราะถ้าตั้งไม่ตรงกัน เค้าก็จะไม่ยอมให้เราโอนเงินออกจาก PayPal ไปยังบัญชีธนาคารในไทยบัญชีนั้นเลยครับ ต้องสะกดให้ตรงกันเป๊ะๆ
ยกตัวอย่างน่ะ เช่นนามสกุล "นราธิวาส" แล้วในบัญชีธนาคารในไทยใช้เป็น "Narathiwas" แต่ในบัญชี PayPal สะกด "Narathiwat" อย่างนี้ไม่ได้น่ะครับ

ซึ่ง PayPal จะเคร่งครัดเฉพาะนามสกุลเท่านั้น ส่วนชื่อนี่ไม่ตรงกับชื่อที่ตั้งไว้กับ PayPal ก็ได้ ส่วนนึง เป็นการเปิดช่องไว้ในกรณีจะโอนเงินออกจาก PayPal ไปยังบัญชีธนาคารในไทยที่เป็นของญาติพี่น้องที่มีนามสกุลเดียวกับเราได้

หมายเหตุ การแก้ไขนามสกุล สามารถทำได้ในภายหลัง ทาง PayPal ก็เปิดช่องทางไว้ให้แก้ไขได้ แต่แก้ไม่ง่ายน่ะ เพราะต้องแจ้งเหตุผลว่าทำไมถึงเปลี่ยน

6. วันเดือนปีเกิด

กรอกวันเดือนปีเกิด โดยกรอกเป็นตัวเลข ตัวอย่างเช่น เกิดวันที่ 31 ม.ค. 2525 ให้กรอกเป็น วว=31 / ดด=01 / ปปปป=1982

7. ประเทศที่ถือสัญชาติ

ระบุสัญชาติของท่านครับ จัดไป...

8. ที่อยู่

กรอกที่อยู่เป็นภาษาอังกฤษน่ะ ทั้งบ้านเลขที่ หมู่บ้าน ชื่ออาคาร เป็นต้น

9. ที่อยู่ - เพิ่มเติม (ระบุหรือไม่ก็ได้)

กรอกที่อยู่เพิ่มเติม แบบว่ากรอกช่องแรกไม่พอ ก็มาใส่ในช่องนี้ได้ พวกชื่อถนน ชื่อซอยก็มาใส่ไว้ที่นี่ได้ ช่องนี้ไม่กรอกก็ได้น่ะครับ

10. เขต/อำเภอ

กรอกชื่อเขตหรืออำเภอ

11. จังหวัด

ระบุจังหวัดของท่าน จัดไป...

12. รหัสไปรษณีย์

กรอกรหัสไปรษณีย์ของไทย 5 หลัก

13. หมายเลขโทรศัพท์

กรอกหมายเลขโทรศัพท์ ช่องนี้ทำเป็นต้องกรอก ข้ามไม่ได้ ทางเว็บ PayPal จะเอาไว้ติดต่อเผื่อว่ามีปัญหาอะไรร้ายแรง และเค้าจะเก็บเป็นความลับให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น 081-234-5678 ก็กรอกไปแค่ "812345678" หรืออีกตัวอย่าง 02-111-1111 กรอกเป็น "21111111" เพราะทาง PayPal ได้ระบุรหัสประเทศไทยไว้ให้แล้ว (+66)

14. ยอมรับและเปิดบัญชี

ก็ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอีกครั้งน่ะครับ ส่วนท่านใดพอมีเวลา ก็ลองเข้าไปอ่าน "สัญญาสำหรับผู้ใช้บริการ" และ "นโยบายความเป็นส่วนตัว ของ PayPal" เมื่อเข้าใจหมดแล้ว มาถึงจุดนี้ก็กด "ยอมรับและเปิดบัญชี" เพื่อเปิดบัญชีได้เลยครับ

ถ้าไม่ติดปัญหาอะไร ก็จะเห็นหน้าเว็บที่ท้าทายสายตาดังรูปที่ 7 เป็นหน้าจอเพื่อความปลอดภัย เห็นตัวอักษรอะไรก็กรอกให้เค้าหน่อย แล้วกด "ดำเนินการต่อ"

รูปที่ 7 - คำถามเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นก็จะมาเจอหน้าแสดงความยินดีว่าเราได้สมัครบัญชี PayPal เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์น่ะ 555+ เพราะมีบางสิ่งที่เราต้องทำหลังจากนี้อีก นั่นคือการยืนยันที่อยู่อีเมลเสียก่อน ตามอีเมลที่เราได้กรอกไว้ก่อนหน้านี้ และการเลือกวิธีชำระค่าสินค้า โดยจะมีช่องให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิต ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องสนใจ ข้ามไปก่อนครับ เราไปดูหน้าภาพรวมของบัญชี PayPal กันก่อน ให้กดที่ "ไปยัง 'บัญชีของฉัน' " ดังรูปที่ 8

รูปที่ 8 - หน้าแสดงความยินดี ^_^

ก็จะเข้าสู่หน้า "ภาพรวม" หรือ Overview ซึ่งเป็นหน้าหลักในการใช้งานบัญชี PayPal เราจะเห็นยอดเงินแสดงให้เห็นว่ามีเงินในบัญชีอยู่ 0.00 บาท ดังรูปที่ 9

รูปที่ 9 - หน้าภาพรวมบัญชี PayPal

มาถึงขั้นตอนนี้ ถือว่าการสมัครใช้งาน PayPal ยังไม่สมบูรณ์น่ะครับ จำเป็นต้องเปิดอ่านอีเมล เพื่อไปกด "ยืนยันอีเมล" ก่อน ดังรูปที่ 10

รูปที่ 10 - อีเมลยินดีต้อนรับของ PayPal

พอกดยืนยันอีเมล จะเด้งหน้าเว็บให้เรากรอกรหัสผ่านอีกครั้ง รหัสที่เราตั้งไว้ยากๆนั่นแหละ :D

รูปที่ 11 - หน้ากรอกรหัสผ่านอีกครั้ง

พอผ่านหน้ารหัสผ่านมาได้ นึกว่าจะเสร็จแล้ว แต่ยังครับ ยังมีคำถามพิเศษอีก 2 คำถาม และต้องเตรียมคำตอบเอาไว้ด้วย เป็นคำถามพิเศษ เอาไว้กรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่าที่ผมใช้ PayPal มาจะ 5 ปีแล้ว ไม่เคยต้องมาตอบคำถามพิเศษเหล่านี้เลย แต่ก็ต้องทำขั้นตอนนี้น่ะ พอทำทั้งสองคำถามเสร็จก็กด "ส่ง" เลยครับ

รูปที่ 12 - หน้าคำถามพิเศษ

ผ่านด่านต่างๆมาได้ ก็จะมาเจอหน้าแสดงความยินดีที่ท่านได้ผ่านทุกด่านมาได้ ดังรูปที่ 13 ให้กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" เพื่อไปหน้า "ภาพรวม" (ดังรูปที่ 9) และนอกจากนี้จะมีอีเมลอีกฉบับส่งมาแสดงความยินดี ดังรูปที่ 14

รูปที่ 13 - หน้าแสดงการเปิดใช้บัญชี PayPal

รูปที่ 14 - อีเมลเริ่มใช้งานบัญชี PayPal

เอาล่ะ ท่านผ่านทุกด่านมาได้มาถึงจุดนี้ถือว่าเยี่ยมมาก แต่... เราผ่านการสมัครใช้งาน PayPal มาได้ครึ่งทางเท่านั้นครับ ยังมีสิ่งที่ต้องทำที่สำคัญมากคือ การยืนยันตัวตน ยืนยันให้ PayPal รู้ว่าเรามีตัวตน น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ว่ามาสมัครเล่นๆ ขำๆ

แต่ถ้าใครลงทะเบียน PayPal มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว บัญชี PayPal ถือว่าใช้งานได้แล้วน่ะครับ คือสามารถนำอีเมลที่สมัครกับ PayPal นี้ไปกรอกในการสมัครเว็บสต๊อกโฟโต้ได้เลย และถ้าจะมีการส่งเงินมาเข้าบัญชีนี้ ก็สามารถรับเงินได้แล้วครับผม

ส่วนเรื่องการยืนยันตัวตน และการถอนเงินออกจาก PayPal เข้าบัญชีธนาคารในไทย ผมจะมากล่าวใน Part 2 ต่อไปครับ... โปรดรอติดตามชม (^_^)

15 comments:

  1. ขอบคุณมากเลยค่ะ แนะนำได้ดีเยี่ยม ^^

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากครับ ละเอียดมากๆ

    ReplyDelete
  3. ถ้าตั้งชื่อในเพพาลไว้เป็นภาษาไทยจะถอนเงินได้มั้ยคะ คือว่าสถานะการถอนเงินมันขึ้นว่าสำเร็จแต่บัญชีธนาคารไม่มียอดเข้ามาเลยค่ะ TT

    ReplyDelete
    Replies
    1. ควรตั้งเป็นภาษาอังกฤษครับ เข้าไปใน PayPal เพื่อแก้ไขชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ดั้งนี้ "Login > ข้อมูลบัญชี > ดูหรือแก้ไขข้อมูลบัญชี > ข้อมูลส่วนบุคคลของฉัน" ซึ่งจะสามารถแก้ไขชื่อได้ครับ

      Delete
  4. This comment has been removed by a blog administrator.

    ReplyDelete
  5. อ่านมาหลายเว็บมาเข้าใจที่เว็บนี้ล่ะค่ะ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

    ReplyDelete
  6. ผมจะติดต่อผู้มีความเชี่ยวชาลได้อย่างไร

    ReplyDelete
  7. ถามครับ ที่ว่า
    1."ซึ่ง PayPal จะเคร่งครัดเฉพาะนามสกุลเท่านั้น ส่วนชื่อนี่ไม่ตรงกับชื่อที่ตั้งไว้กับ PayPal ก็ได้ ส่วนนึง เป็นการเปิดช่องไว้ในกรณีจะโอนเงินออกจาก PayPal ไปยังบัญชีธนาคารในไทยที่เป็นของญาติพี่น้องที่มีนามสกุลเดียวกับเราได้" ประโยคนี้ผมเข้าใจว่า ชื่อ ในpaypal กับ ชื่อ ในบัญชีธนาคาร ไม่ต้องตรงกันก็ได้ แต่ว่า นามสกุล ทั้งใน paypal และ บัญชีธนาคาร นั้นจำเป็นต้องตรงกัน ถูกต้องไหมครับ
    2.แล้วทั้ง ชื่อ และ นามสกุล ใน passport นั้น ส่วนนี้จะต้องตรงกันกับ ชื่อ และ นามสกุล ใน paypal ด้วย ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ
    *ขอบพระคุณครับ

    ReplyDelete
  8. ถ้าเป็น คนประเทศ พม่า เป็นประเทศไม่มีนามสกุลทำไงครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ผมก็เพิ่งรู้ว่าคนของประเทศพม่าไม่มีนามสกุล เท่าที่ไปหาในเน็ต เทียบกับการจองตั๋วเครื่องบินน่ะ ส่วนใหญ่ให้ใส่ชื่อและนามสกุลเป็นชื่อเดียวกันหมดทั้งสองช่องครับ ลองดูครับ

      Delete
  9. ขอสอบถามค่ะ ยืนยันที่อยู่อีเมลล์หลายครั้งแล้ว แต่ในหน้าเว็บยังขึ้นว่ายังไม่ยืนยันค่ะ ต้องทำยังไงคะ

    ReplyDelete
  10. จำเป็นต้อวยืนยันตัวคนในเพจพาวใช่ไหม ปลอดภัยนะ

    ReplyDelete