Sunday, June 8, 2014

ไอเดียการปรับแต่งภาพถ่ายสำหรับงานสต็อกโฟโต้

"จบหลังกล้อง" หรือ "จบหลังคอมฯ" เป็นวลีที่ใช้ในกลุ่มช่างภาพด้วยกัน ว่าใครมีแนวในการได้มาซึ่งภาพถ่ายที่สวยงามนั้นด้วยวิธีใด "จบหลังกล้อง" คือช่างภาพจังหวะฝีมือ หลังจากเสียงของชัตเตอร์จบลง ไฟล์ภาพที่ได้แทบจะสมบูรณ์แบบ ทั้งความพอดีของแสง องค์ประกอบโดยรวมเป๊ะมากๆ แต่ก็มีเยอะ (ทั้งมือโปร มือกึ่งโปร หรือมือสมัครเล่น) ที่ได้ภาพออกมาแล้วยังไม่พอใจในสิ่งที่เห็น จำเป็นต้องส่งไป "จบหลังคอมฯ" ผ่านโปรแกรมอย่าง Adobe Lightroom หรือ Adobe Photoshop ซักหน่อย แล้วทุกอย่างจะแจ่มแจ๋ว :)

รูปที่ 1 - จบหลังกล้อง

ในยุคดิจิตอลเป็นอะไรที่หลีกหนีกระบวนการ "จบหลังคอมฯ" ไม่ได้จริงๆ ผมเองแทบทุกรูป จะต้องนำไปผ่านเวทมนต์ของ Photoshop ทุกครั้ง มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ไม่ได้เก่ง Photoshop อะไรมาก แบบว่าถ่ายภาพเพื่อนฝูงออกมาหน้ามืดกันทุกคน จำเป็นต้องไปปรับให้หน้าทุกคนสว่าง ให้สวย ให้หล่อ ก่อนที่จะส่งภาพนั้นไปอวดเพื่อนฝูง... แบบฟรุ้งฟริ้งๆ

http://www.adobe.com
รูปที่ 2 - โปรแกรมแต่งภาพยอดนิยม
แต่ใช่ว่าการ "จบหลังคอมฯ" จะเสกได้ทุกอย่างครับ ถ้าถ่ายมาเบลอ ดำมืดเกินไป สว่างจ้าเกินไป จนรายละเอียดหายไป หรือจัดองค์ประกอบไม่ดี เช่น ถ่ายใบหน้าเพื่อนแล้วหูหายไปข้างนึง ครั้นจะให้ Photoshop มาช่วยนั้น ลำบากแท้ๆ


เมื่อผมเข้าสู่วงการสต๊อกโฟโต้ใหม่ๆ ก็ยังไม่กล้าแต่งภาพอะไรมากมาย กลัวว่าทีมงานตรวจภาพของเว็บไมโครสต็อกจะรู้ว่าภาพถูกเติมแต่งมา แล้วจะส่งผลให้ภาพเหล่านั้นไม่ผ่านการพิจารณา พอผ่านไปซักระยะผมสังเกตุเห็นภาพของพวกฝรั่งที่อวดโฉมขายกันในเว็บ ทำไมสีมันสดมากๆ ทำไมกล้องของผมถึงถ่ายไม่สวยสดอย่างนี้บ้าง ก็เลยเริ่มลองของครับ

รูปที่ 3 - อาชีพช่างภาพสต๊อกโฟโต้
(*** Toony เป็นช่างภาพมือใหม่
และเพิ่งผันตัวเองมาเป็นคนขายภาพออนไลน์
เขาได้เริ่มเขียนบล็อกแนะนำประสบการณ์ตรง
จากคนถ่ายภาพไม่เป็นเลย
จนเข้าสู่วงการสต๊อกโฟโต้ในปัจจุบัน)
ช่วงแรกๆ ผมก็ลองปรับดูนิดๆหน่อยๆ เพิ่มความสว่างนิดนึง(Brightness) ปรับสีเข้มขึ้นนิดนึง(Saturation) ปรับความเปรียบต่างนิดนึง(Contrast) ปรับความคมชัดนิดนึง(Sharpen) ปรับแก้สีที่เพี้ยน(Color Balance) แล้วลองส่งไปตรวจดู บางรูปก็ผ่านแบบเฉียดฉิว บางรูปก็โดนตีตกแบบไม่เป็นท่าด้วยข้อหา ใช้เวทมนต์มากเกินไป "Overuse--Image has excessive noise reduction and/or excessive sharpening effects applied."

ทำไปสักพักแล้วเราจะรู้เองว่าการปรับแบบไหนเป็นการล้ำเส้น ปรับแบบไหนที่เหยียบบนเส้นพอดี และปรับแบบไหนที่ยังไม่ถึงเส้น ในส่วนเทคนิควิธีการปรับต่างๆ ผมยังไม่ลงรายละเอียดมากน่ะครับเพราะยังไม่เก่งพอ ฝีมือแค่พอเอาตัวรอดไปวันๆ 555+ ดังนั้นบล็อกนี้ผมจะเน้นไปที่แนวไอเดียการปรับแก้ภาพที่จบหลังกล้องไม่สวย ให้มาจบหลังคอมฯ แบบพอไปวัดไปวาได้ในแบบของผมเอง

เมื่อลองเปรียบเทียบรูปที่ 4 (ผลงานของผมเอง) กับรูปที่ 5 (ผลงานช่างภาพชาวแคนาดา) มันช่างดูแตกต่างกันเหลือเกิ้น... ซึ่งแน่นอนว่าเวลาที่ลูกค้าค้นเจอสองภาพนี้พร้อมๆกัน ลูกค้าก็ย่อมเลือกผลงานที่ดูสวยสดใสเป็นแน่แท้ ส่วนภาพผมก็เก็บไว้เป็นความภูมิใจส่วนตัวเงียบๆคนเดียว

http://www.shutterstock.com/pic-52694725.html?rid=591133
รูปที่ 4 - ภาพพระนอนวัดโพธิ์ ฝีมือของผมเอง (ดูเชยสิ้นดี)

http://www.shutterstock.com/pic-98302415.html?rid=591133
รูปที่ 5 - ภาพพระนอนวัดโพธิ์ ของมืออาชีพ (สวยงามยิ่งนัก) (Photo Credit: Dmitry Rukhlenko)

ผมจะยกตัวอย่างภาพถ่ายแบบจบหลังกล้องของผมเทียบกับภาพที่ผ่านการปรับแต่งแล้ว และมีออนไลน์อยู่ในเว็บสต๊อกโฟโต้ จะได้เป็นไอเดียให้กับเพื่อนๆ ดังนี้


ปรับแสงให้พอดี

มาถึงไอเดียตัวอย่างแรก ซึ่งผมคิดว่าช่างภาพหลายๆท่าน คงมีภาพแนวนี้ที่ถ่ายมามันมืดไปหน่อย (Under) และถ้าจะส่งภาพเหล่านี้ไปขายเลยนั้น แน่นอนจะเสี่ยงไม่ผ่านการพิจารณา หรือถ้าฟลุ๊คผ่านไป (เหมือนรูปที่ 5 ของผม) โอกาสขายออกยากมากครับ ภาพนี้ผมปรับความสว่าง Exposure ขึ้น จากโปรแกรม Adobe Camera Raw

รูปที่ 6 - ดอกกล้อยไม้ (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-70291756.html?rid=591133
รูปที่ 7 - ดอกกล้วยไม้ (หลังแต่งภาพ)


ปรับแก้ภาพเอียง

การถ่ายภาพด้วยมือเปล่าโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ภาพที่ได้อาจจะมีเอียงบ้างไรบ้าง องค์ประกอบของภาพโดยรวมอาจจะดูไม่สวยงาม จะต้องผ่านกระบวนการหมุนภาพนิดหน่อย ผ่านฟังก์ชัน Edit > Transform > Rotate ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 8 - วัดร่องขุ่น (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.dreamstime.com/stock-photography-image14556064#res2291920
รูปที่ 9 - วัดร่องขุ่น (หลังแต่งภาพ)


การครอปภาพ (Crop)

บางกรณี ภาพที่เราคิดกว่าถ่ายแบบจัดองค์ประกอบศิลป์ (Composition) ได้อย่างสวยงามแล้ว แต่คนตรวจภาพตามสต๊อกโฟโต้ในต่างประเทศอาจจะตาไม่ถึง มองงานศิลป์ของเราด้อยไป ผมเลยต้องนำภาพที่สวยอยู่แล้วนั้น(คิดไปเอง) มาตัดใหม่ผ่านการครอปในฟังก์ชัน Image > Crop ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 10 - เสือโคร่ง (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-59072032.html?rid=591133
รูปที่ 11 - เสือโคร่ง (หลังแต่งภาพ)


ปรับแก้ WB

แสงสีของภาพหลังจากที่เราถ่ายแบบจบหลังกล้องเสร็จแล้วนั้น แรกๆ ก็คิดว่าเหมาะสมแล้ว สวยงามแล้ว แต่พอโหลดลงคอมฯ เท่านั้นแหละ มองไปมองมา สีมันเพี้ยนๆยังไงไม่รู้ สำหรับช่างภาพมืออาชีพจะสามารถตั้งค่าสมดุลย์แสงสีขาว (White Balance) ให้เข้ากับทุกๆสถานการณ์ที่เจอ แต่มือสมัครเล่นอย่างผมก็ยังตั้งมั่วไปมั่วมา อันไหนพอดีก็ฟลุ๊ค อันไหนไม่พอดี ก็ไปจบหลังคอมฯ 555+ ผมปรับแต่งสีเพี้ยนโดยปรับ Temperature และ Tint ผ่านโปรแกรม Adobe Camera Raw

รูปที่ 12 - ห้องในโรงแรม (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.123rf.com/photo_20013545.html#foto76
รูปที่ 13 - ห้องในโรงแรม (หลังแต่งภาพ)


ลบฝุ่น ลบสิ่งไม่พึงประสงค์

กรณีนี้เป็นสิ่งที่มองแบบผิวเผิน อาจคิดว่าภาพเราก็โอเคแล้วน่ะ แสงโอเค สีโอเค องค์ประกอบยิ่งโอเคไปใหญ่ แต่คนตรวจภาพของเว็บสต๊อกโฟโต้ กลับมองในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือบางสิ่งที่เราเห็นกลับคิดว่าคงไม่เป็นไรหรอก แต่สิ่งนั้นเพียงจุดเล็กๆ ทำให้ภาพไม่ผ่านการพิจารณา หรือถ้าผ่านไปได้ ยอดขายก็จะไม่ดีเท่าที่ควรครับ ผมมักรีทัชภาพ (Retouch) ผ่านเครื่องมือ Patch Tool ของ Adobe Photoshop

รูปที่ 14 - หน้าต่าง (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-155280896.html?rid=591133
รูปที่ 15 - หน้าต่าง (หลังแต่งภาพ)


ลบโลโก้ เครื่องหมายทางการค้า

สิ่งหนึ่งนอกเหนือการควบคุมของช่างภาพสต๊อก คือไปเจอสิ่งที่สวยงาม แต่สิ่งนั้นดันมีข้อห้ามของทางเว็บสต๊อกโฟโต้ ทำไงได้หล่ะ ก็ต้องกดถ่ายความงามนั้นมาก่อนแล้วค่อยมาปรับแก้หลังคอมฯ ในภายหลัง บางกรณีการหาเหลี่ยมเพื่อหลบโลโก้นั้นก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆก็ต้องรีทัชออกน่ะครับ ผมมักใช้เครื่องมือ Patch Tool ของ Adobe Photoshop เข้าช่วย

รูปที่ 16 - รถแมคโครตักดิน (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-119189023.html?rid=591133
รูปที่ 17 - รถแมคโครตักดิน (หลังแต่งภาพ)


ไดคัทภาพ (Die Cut)

มาถึงตัวอย่างสุดท้ายของบล็อกนี้ หลายต่อหลายรูปที่ผมได้ลองส่งไปขายแล้วมีทั้งไม่ผ่านการตรวจ ถึงผ่านไปได้ก็ขายไม่ได้เลย พอเริ่มศึกษางานของช่างภาพที่ขายดีๆ เค้าจะมีภาพหลังขาว (Isolated) ที่ถ่ายวัตถุอะไรก็ได้ ทำให้วัตถุนั้นง่ายต่อการนำไปใช้ของลูกค้า แน่นอน ผมไม่มีไฟสตูดิโอไว้ถ่ายในแนวนี้ แต่อยากมีภาพแนวนี้ประดับ Portfolio กับเค้าบ้าง ผมเลยต้องใช้กำลังภายในผ่าน Polygonal Lasso Tool ของ Adobe Photoshop ร่วมกับเทคนิคตัดโน้นแปะนี่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ^_^

รูปที่ 18 - ทีวีเก่า (ก่อนแต่งภาพ)

http://www.shutterstock.com/pic-188987042.html?rid=591133
รูปที่ 19 - ทีวีเก่า (หลังแต่งภาพ)

บล็อกนี้นำเสนอไอเดียพอเป็นสังเขป ผมขอเก็บเล็กผสมน้อยประสบการณ์แต่งภาพให้มากกว่านี้ แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกในโอกาสต่อไปครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับผม :-)

http://instagram.com/korninrut
ไว้เจอกันบล็อกหน้าครับ