Wednesday, May 7, 2014

ทำธุรกิจออนไลน์ Stock Photos ครบ 4 ปีแล้วครัช!

ครบกำหนดที่ต้องสรุปยอดกันอีกซักที ในรอบ 4 ปี ที่ผมล้มลุกคลุกฝุ่นอยู่ในวงการ สต็อกโฟโต้ (Stock Photos) การที่ได้มีเวลามาสรุปผลในแต่ละปี ก็มีประโยชน์มากครับ ทำให้ได้เห็นหน้าเห็นหลัง ทำให้ได้คิดว่าจะเดินหน้าไปยังไงต่อ จะหยุดทำแล้วไปหาอาชีพที่มั่นคงกว่าทำดี หรือจะประคับประคองต่อไปเรื่อยๆ หรือจะตะลุยต่อไปให้ถึงที่สุด

(สามารถตามอ่านย้อนหลังบล็อกก่อนหน้านี้ "สรุปผล 3 ปีกับการขายภาพถ่าย/วิดีโอ ผ่านเว็บ Stock Photo" และ "2 ปีกับการขายภาพออนไลน์")

แน่นอนครับ ผมเลือกที่จะลุยมันต่อไป โดยมีเพื่อนหลายคนที่คิดจะเริ่มเข้าสู่วงการขายภาพถ่ายออนไลน์ ถามมาบ่อยๆว่า... วงการนี้จะอยู่ได้อีกนานไหม? วงการนี้จะเติบโตไหม? จะยึดเป็นอาชีพหลักได้ไหม?... ผมก็ตอบตามความเชื่อว่า วงการอยู่ได้อีกนานไม่ต้องห่วง แต่การจะยึดเป็นอาชีพหลักได้นั้น เราต้องมีผลงานที่โดดเด่นระดับนึงก่อน สะสมผลงานให้มากพอควร ถึงจะมียอดขายที่ดีสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (มีช่างภาพคนไทยหลายท่านที่ยึดวงการสต็อกโฟโต้เป็นอาชีพหลัก) แต่ถ้าจะทำเป็นอาชีพเสริม ผมว่ามันเหมาะมากที่สุดสำหรับคนที่มีใจรักในการถ่ายภาพทุกท่าน (ผมเองก็ยังอยู่ในสถานะนี้)


ในรอบ 3 ปีก่อนหน้านี้ ผมเองก็ยังไม่ค่อยภาคภูมิใจในการเป็นช่างภาพแนวสต๊อกเท่าไหร่นัก เพราะยังไม่ผ่านด่านการสอบเข้าเป็นช่างภาพของ iStockphoto ซึ่งเป็นหนึ่งใน Top 5 ของวงการสต๊อกโฟโต้ แต่พอเข้าปีในที่ 4 กับโอกาสการสอบในครั้งที่ 8 ในที่สุดผมก็ทำได้ครับ นั่นเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ผมยังเดินต่อในเส้นทางนี้ ^_^

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง ผมได้สมัครเป็น Exclusive Videographer ที่ iStockphoto นั่นคือส่งวิดีโอขายให้กับที่เว็บ iStockphoto เว็บเดียวเท่านั้น ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้นอีกนิดหน่อย ก่อนหน้านี้ผมได้ลองฝึกการถ่ายวิดีโอเล่นๆ และลองส่งขายไปหลายเว็บ แต่ยอดขายก็ไม่ดีเลย ประกอบกับเวลามีน้อยเลยวัดดวงส่งแค่เว็บเดียวพอ ยอดขายก็พอมีมาบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ คงต้องฝึกฝีมืออีกหลายปี 555+

นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมาก็ได้สมัครเว็บสต็อกโฟโต้แห่งใหม่เพิ่มเติม ด้วยว่าอันตัวเรานั้นมันมีของอยู่แล้ว (รูปถ่าย) ก็เลยอยากจะหาที่ปล่อยของเพิ่ม ก็เริ่มส่งภาพไปยังเว็บ Pond5, Mostphotos, Pixmac, Cutcaster และ Clashot ซึ่งยอดขายยังคงบางตามากถึงมากที่สุด (ผิดหวังนิดหน่อย) ก็เลยกลับไปทุ่มเทกับเว็บสต๊อกโฟโต้ตัวหลักๆก่อน และถ้าว่างเมื่อไหร่ ฉันจะไม่ลืมจะแวะไปปล่อยของอีก

รูปที 1 - ภาพถ่ายที่ถูกเลือกเผยแพร่ในนิตยสาร "ข้าวไทย"

อีกหนึ่งความปลาบปลื้มใจส่วนตัวของผม คือไปเจอผลงานภาพถ่ายตัวเองได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร "ข้าวไทย" ในฐานะคนชอบสร้างภาพ(ถ่าย) การได้ถ่ายภาพถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต การได้มีรูปออนไลน์บนเว็บเอเจนซี่ระดับโลกก็ดีใจมากแล้ว และยิ่งมีรูปขายได้ด้วยก็ยิ่งดีใจมากขึ้นไปอีก (มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง 555+)

ภาพชื่อว่า "Thai farmer" ภาพนี้อาจจะไม่ได้สวยงามมาก เพราะสมัยนั้นผมยังมือใหม่อยู่ แต่เมื่อลูกค้าชาวไทยเลือกซื้อไป (ไทยทำไทยใช้) ผมก็ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ (^^) นึกย้อนกลับไปก็อดขำไม่น้อย ผมถ่ายคุณยายท่านหนึ่งในแปลงนาข้างๆ แปลงนาของคุณแม่ผม ในยุคที่มีโครงการประกันราคาข้าว สมัยรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ แต่ถูกนำมาใช้สะท้อนปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ :P


วกกลับมาเรื่องสรุปผลการขายภาพครบ 4 ปีกันดีกว่า ภาพรวมของวงการขายภาพออนไลน์ยังถือว่าไปได้ดีครับ รวมแล้วผมสมัครขายภาพไป 22 เว็บ แต่เว็บหลักๆที่ผมเน้นจริงๆ คือ 10 อันดับแรก (ดูตารางที่ 1) ในส่วนของรายได้รวมทุกเว็บ สี่แสนกว่าๆ ส่วนตัวแล้วผมว่ายังไม่เข้าเป้าน่ะ สำหรับงานที่ทำอยู่ 4 ปี (มันน่าจะได้มากกว่านี้ 555+) แต่ถ้ามองในแง่โอกาสของการเติบโตในสายงานนี้ยังเปิดกว้างอยู่มาก งานที่ต้องการไอเดีย งานที่ต้องขยั่นหมั่นเพียร เป็นงานอิสระ เป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งทำประจำติดอยู่กับออฟฟิต ไม่ต้องรูดบัตรเข้า 8 โมงเช้า รูดออก 5 โมงเย็น แค่มีคู่แข่งในระดับโลกเพียงไม่กี่แสนคนก็เท่านั้นเอง (- -")

No. Stock Photos Online images Online footages Total sales Total earnings(Baht)
1. Shutterstock 3,207 0 16,224 295,590
2. Freedigitalphotos 1,708 0 284 39,270
3. Fotolia 2,285 0 1,764 32,550
4. 123rf 3,716 0 1,046 26,760
5. Dreamstime 2,353 0 780 24,000
6. iStockphoto 2,222 115 108 17,249
7. Depositphotos 4,356 0 513 8,220
8. Canstockphoto 3,663 0 154 6,640
9. Veer 3,017 0 119 6,240
10. Photodune 3,991 0 228 6,240
11. Bigstockphoto 741 0 65 3,360
12. Graphicleftovers 3,167 0 73 2,940
13. Colourbox 4,422 0 313 2,720
14. Alamy 182 0 4 1,080
15. Yaymicro 2,920 0 17 510
16. Pond5 559 0 1 173
17. Photokore 2,151 0 12 90
18. Crestock 50 0 6 45
19. Mostphotos 1,090 0 1 40
20. Pixmac 265 0 1 30
21. Clashot 35 0 4 19
22. Cutcaster 70 0 0 0
     T O T A L 21,717 474,265
ตารางที่ 1 - Summary of microstock photography earnings (4 years)
หมายเหตุ:
  • Online images คือภาพใน Portfolio ที่ผ่านกันอนุมัติแล้ว
  • Online footages คือวิดีโอคลิปที่ผ่านการอนุมัติแล้ว (ผมส่งขายที่ iStockphoto เว็บเดียวเท่านั้น)
  • Total sales คือยอดรวมจำนวนการดาวน์โหลดของลูกค้า
  • Total earnings (Baht) คือยอดรายได้รวม 4 ปี (เรทในการคำนวณอยู่ที่ 30 บาท/เหรียญ)

ผมขอลงรายละเอียดเพิ่มเติมของเว็บ Shutterstock สักหน่อย เพราะเป็นเว็บเอเจนซี่รายใหญ่ที่ทำรายได้ให้ผมมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดที่ได้มา เมื่อพิจารณาจากรูปที่ 2 เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์รายได้รวม 4 ปี แบ่งตามแต่ละเว็บเอเจนซี่ จะเห็นว่า Shutterstock นำโด่งที่ 62% รองลงมาเป็น Freedigitalphotos ที่ 8% เว็บนี้ทำให้ผมเซอร์ไพรส์มาตลอด จนสามารถทำรายได้เบียดแซง Fotolia, Dreamstime, 123rf และ iStockphoto

รูปที่ 2 - กราฟแสดงสัดส่วนรายได้รวมจากเว็บเอเจนซี่สต๊อกโฟโต้

บทวิเคราะห์ส่วนตัวของผม ยอดขายที่ดีในเว็บ Shutterstock นอกจากเป็นเพราะเว็บนี้ทำการตลาดได้ดีมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือแนวการถ่ายภาพของผมคงเข้าทางกลุ่มลูกค้าของเว็บนี้ เช่น แนวธรรมชาติ ดอกไม้ ภาพวิว แต่แนวนี้คงไม่ทางเว็บ Fotolia, Dreamstime และ 123rf เอาซ่ะเลย 555+

ส่วนเว็บ iStockphoto ยอดขายยังเป็นรองอีกหลายเว็บ เพราะผมเพิ่งสอบผ่านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 นี่เอง ทำให้ระยะเวลาในการขายยังไม่ถึงปี จึงทำให้สู้เว็บที่ขายมานานกว่า 4 ปีไม่ได้ คิดว่า iStockphoto น่าจะทำให้รายได้ให้ผมดีขึ้นในปีหน้า (หวังลึกๆ)

รูปที่ 3 - กราฟเปรียบเทียบสัดส่วนของรูปที่ขายได้กับรูปที่ขายไม่ได้

มาดูสถิติเกี่ยวกับสัดส่วนภาพที่ขายได้และขายไม่ได้(เล้ยจริงๆ) บางภาพนอนนิ่งอยู่ในพอร์ทผมมา 4 ปีเต็ม ไม่มีสัญญาณตอบรับจากลูกค้าเลย 555+ จากจำนวนรูปทั้งหมดในพอร์ทผมที่ Shutterstock (3,207 ภาพ) ภาพที่ขายไม่ได้เลยมีอยู่ถึง 44% ที่ขายได้แน่ๆก็ 56% แต่สัดส่วนภาพที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำมีอยู่แค่ 1-2% เท่านั้น!

ภาพที่มีจำนวนโหลดมากกว่า 50 โหลดขึ้นไป รวมแล้วมี 2% ซึ่งจำนวนอันน้อยนิดเหล่านี้สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ที่ได้จากเว็บ Shutterstock ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าภาพไหนอนาคตจะขายดีหรือไม่ จนกว่าลูกค้าจะเป็นผู้ให้คำตอบนั้น (คมมาก) บางภาพตั้งใจถ่ายมาก ลงทุนซื้ออุปกรณ์ประกอบมากมาย กลับขายได้แค่โหลดสองโหลด แต่ภาพที่ถ่ายแบบไม่ตั้งใจช่วงไปทริปต่างจังหวัดนี่และ ถ้าโดนขึ้นมาน่ะ กินยาวจริงๆครับ

รูปที่ 4 - กราฟแสดงจำนวนภาพในพอร์ทเทียบกับรายได้ในแต่ละปี

สำหรับสถิติปิดท้ายในบล็อกนี้คือ อัตราการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปของผม โดยแสดงให้ดูว่า จำนวนภาพที่ทยอยสะสมอยู่ในพอร์ท ยิ่งมีปริมาณมากขึ้น (ต้องเน้นคุณภาพด้วยน่ะครับ) อัตราการเติบโตของรายได้ก็ทยอยเพิ่มตาม รับรองว่าอาชีพสายงานคนชอบสร้างภาพ(สร้างวิดีโอและสร้างภาพเวกเตอร์) ส่งขายไปทั่วโลกนั้น ยังรุ่งอยู่น่ะครัช... พี่น้องครัชชช...

1 comment:

  1. เป็น EX IS ต้องทำอย่างไงครับ

    ReplyDelete